กฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนและการอนุญาตให้บริการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2564


กฎกระทรวง
การขึ้นทะเบียนและการอนุญาตให้บริการ
เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
พ.ศ. 2564

——————————-

.

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 26 กันยายน 2564)

ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น และการเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ พ.ศ. 2556

ข้อ 3 ในกฎกระทรวงนี้

“ใบสำคัญ” หมายความว่า ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรา 9

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรา 11

ข้อ 4 การขึ้นทะเบียนและการอนุญาตให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแบ่งเป็นสามประเภท ดังต่อไปนี้

(1) การตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ และรับรอง

(2) การประเมินความเสี่ยง

(3) การจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษา

ข้อ 5 การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ การออกใบแทนใบสำคัญ การยื่นคำขออนุญาต การอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การแจ้งหรือการรายงานตามกฎกระทรวงนี้ ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับหรือให้ยื่นคำขอ แจ้ง หรือรายงาน ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้

(1) กองความปลอดภัยแรงงาน

(2) สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่

(3) สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด

(4) ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต

(5) สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ 6 ใบรับคำขอขึ้นทะเบียน ใบสำคัญ ใบรับคำขออนุญาต ใบอนุญาต ใบแทนใบสำคัญ ใบแทนใบอนุญาต และคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

แบบตามวรรคหนึ่ง อธิบดีจะกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทของงานก็ได้

หมวด 1
การขึ้นทะเบียนและการอนุญาต
——————————-

ข้อ 7 ผู้ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือด้านอื่น ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(4) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(5) ไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนในประเภทที่ขอขึ้นทะเบียน เว้นแต่พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(6) ไม่เคยเป็นผู้กระทำการแทนนิติบุคคลซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตในประเภทที่ขออนุญาต เว้นแต่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

ข้อ 8 นิติบุคคลซึ่งประสงค์จะขออนุญาตเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย

(2) มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(3) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตในประเภทที่ขออนุญาต เว้นแต่พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(4) ผู้กระทำการแทนนิติบุคคลต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนในประเภทที่ขอขึ้นทะเบียนตามข้อ 7 (5) เว้นแต่พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(5) ผู้กระทำการแทนนิติบุคคลต้องไม่เคยเป็นผู้กระทำการแทนนิติบุคคลซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตในประเภทที่ขออนุญาต เว้นแต่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(6) มีบุคลากรซึ่งสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือด้านอื่น ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามประเภทของงานที่ขออนุญาต

ข้อ 9 ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ต้องจัดให้มีอุปกรณ์และสถานที่สำหรับการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง และจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ตามประเภทของงานที่ขอขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาต

ข้อ 10 บุคคลใดประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

(1) เลขประจำตัวประชาชน

(2) เอกสารหรือหลักฐานแสดงคุณวุฒิการศึกษาตามข้อ 7 (3)

(3) เอกสารหรือหลักฐานแสดงความพร้อมของอุปกรณ์หรือสถานที่ตามข้อ 9

(4) คำยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลตาม (1) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

ข้อ 11 นิติบุคคลใดประสงค์จะขออนุญาตให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและเลขทะเบียนนิติบุคคล

(2) หนังสือมอบอำนาจในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล

(3) เอกสารหรือหลักฐานแสดงคุณวุฒิการศึกษาตามข้อ 8 (6)

(4) เอกสารหรือหลักฐานแสดงความพร้อมของอุปกรณ์หรือสถานที่ตามข้อ 9

(5) คำยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลตาม (1) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

ข้อ 12 เมื่อได้รับคำขอขึ้นทะเบียนหรือคำขอรับใบอนุญาต ให้อธิบดีตรวจสอบคำขอดังกล่าว รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานว่ามีความถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ ถ้าถูกต้องและครบถ้วน ให้ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาต หากไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้บันทึกความบกพร่องนั้นไว้และแจ้งให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไข เพิ่มเติมคำขอหรือจัดส่งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ในกรณีที่การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหรือคำขอรับใบอนุญาตมิได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้อธิบดีและผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตลงนามไว้ในบันทึกนั้นด้วย

ในกรณีที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอ หรือไม่จัดส่งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะให้ดำเนินการต่อไป และให้อธิบดีจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ

ข้อ 13 ในกรณีที่คำขอขึ้นทะเบียนหรือคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้อธิบดีพิจารณาคำขอและตรวจสอบข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน ถ้าผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณสมบัติตามข้อ 7 หรือข้อ 8 แล้วแต่กรณี และมีอุปกรณ์หรือสถานที่ที่พร้อมในการให้บริการตามข้อ 9 ให้อธิบดีมีคำสั่งขึ้นทะเบียน หรืออนุญาต แล้วแต่กรณี

ในการตรวจสอบข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบสถานที่ให้บริการของผู้ยื่นคำขอ หรือเรียกผู้ยื่นคำขอมาชี้แจงข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ที่ยื่นไว้ได้

ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนหรือมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาต อธิบดีจะแจ้งให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับหนังสือแจ้งตามวรรคสาม ด้วยก็ได้

ข้อ 14 ในกรณีอธิบดีมีคำสั่งขึ้นทะเบียนหรือมีคำสั่งอนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว และให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว เมื่อผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้อธิบดีออกใบสำคัญหรือใบอนุญาตให้ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้จัดส่งใบสำคัญหรือใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เว้นแต่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตได้แสดงความประสงค์จะรับด้วยตนเอง

ในกรณีที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนหรือรับใบอนุญาต และให้อธิบดีจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาต อธิบดีจะแจ้งและออกใบรับแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขอรับใบอนุญาตโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่งด้วยก็ได้

ข้อ 15 ใบอนุญาตให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

หมวด 2
การขอต่ออายุใบอนุญาต
และการออกใบแทนใบสำคัญและใบอนุญาต
——————————-

ข้อ 16 ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีภายในเก้าสิบวันก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ พร้อมด้วยใบอนุญาต ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานอื่นตามที่กำหนดในแบบคำขอ ต่ออายุใบอนุญาต

เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น

ให้นำความในข้อ 12 ข้อ 13 และข้อ 14 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตด้วยโดยอนุโลม

ข้อ 17 ในกรณีที่ใบสำคัญหรือใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือเสียหายในสาระสำคัญ และผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะยื่นคำขอรับใบแทนใบสำคัญหรือใบแทนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

(1) ใบสำคัญหรือใบอนุญาตหรือเลขที่ใบสำคัญหรือใบอนุญาต กรณีใบสำคัญหรือใบอนุญาตถูกทำลายหรือเสียหายในสาระสำคัญ

(2) ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานอื่นตามที่กำหนดในแบบคำขอรับใบแทนใบสำคัญหรือใบแทนใบอนุญาต

ให้นำความในข้อ 12 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาคำขอรับใบแทนใบสำคัญหรือใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบสำคัญหรือใบแทนใบอนุญาตด้วยโดยอนุโลม

ในกรณีที่คำขอรับใบแทนใบสำคัญหรือใบแทนใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานตามวรรคหนึ่งถูกต้องและครบถ้วน ให้อธิบดีออกใบแทนใบสำคัญหรือใบแทนใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวัน

หมวด 3
การเพิกถอนทะเบียน
การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต
——————————-

ข้อ 18 ให้อธิบดีเพิกถอนทะเบียนในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้รับใบสำคัญผู้ใด

(1) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 7

(2) เรียกเก็บค่าบริการเกินหลักเกณฑ์ตามข้อ 22

(3) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 23

ข้อ 19 ให้อธิบดีพักใช้ใบอนุญาตโดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกสิบวันในกรณีที่ปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใด

(1) เรียกเก็บค่าบริการเกินหลักเกณฑ์ตามข้อ 22

(2) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 23

ข้อ 20 ให้อธิบดีเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีที่ปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใด

(1) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 8

(2) เคยถูกพักใช้ใบอนุญาตมาแล้วหนึ่งครั้ง และมีเหตุต้องถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตซ้ำในเรื่องเดียวกันอีกระหว่างอายุใบอนุญาต

(3) ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต

ข้อ 21 คำสั่งเพิกถอนทะเบียน คำสั่งพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาต หรือบุคคลดังกล่าวไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ปัจจุบันของผู้รับใบสำคัญหรือสำนักงานของผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี และให้ถือว่าได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาต อธิบดีจะแจ้งให้ผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาตทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่งด้วยก็ได้

ผู้ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะขอขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

หมวด 4
การกำหนดค่าบริการและวิธีการให้บริการ
——————————-

ข้อ 22 ค่าบริการที่ผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาตจะเรียกเก็บ ให้คำนวณจากค่าใช้จ่ายในการให้บริการของผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาต รวมกับค่าตอบแทนที่ผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาตได้รับจากการให้บริการ ซึ่งค่าตอบแทนดังกล่าวต้องไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนค่าใช้จ่ายในการให้บริการ

ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ หมายความถึง ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการให้บริการ เช่น ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าวัสดุ อุปกรณ์ หรือสถานที่ในการให้บริการ และค่าใช้จ่ายอื่นใดของผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาต

ข้อ 23 ในการให้บริการ ผู้รับใบสำคัญหรือผู้รับใบอนุญาตต้อง

(1) ตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง และจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และมาตรฐานของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ

(2) จัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้มีความพร้อมตลอดเวลาที่มีการดำเนินการให้บริการ

(3) ไม่เปิดเผยความลับของผู้รับบริการซึ่งล่วงรู้หรือได้มาจากการให้บริการ

(4) จัดทำค่าบริการที่กำหนดรายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการให้บริการและค่าตอบแทนที่ได้รับเสนอต่อผู้รับบริการก่อนการให้บริการ

(5) ในกรณีเป็นการให้บริการตามข้อ 4 (1) หรือ (2) ให้ส่งรายงานสรุปผลการให้บริการพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนดต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการให้บริการ

(6) ในกรณีเป็นการให้บริการตามข้อ 4 (3) ให้แจ้งกำหนดการให้บริการแต่ละครั้งก่อนการให้บริการไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และรายงานสรุปผลการให้บริการพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนดต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการให้บริการ

หมวด 5
ค่าธรรมเนียม
——————————-

ข้อ 24 ให้กำหนดค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

(1) ใบอนุญาต                                      ฉบับละ 20,000 บาท

(2) ใบสำคัญ                                         ฉบับละ  5,000 บาท

(3) ใบแทนใบอนุญาต                           ฉบับละ     500 บาท

(4) ใบแทนใบสำคัญ                              ฉบับละ     500 บาท

(5) การต่ออายุใบอนุญาต                      ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งแก่บุคคลผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือนิติบุคคลผู้ขอรับใบอนุญาตซึ่งประกอบวิชาชีพในประเภทงานที่จะให้บริการที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือหลักฐานรับรองในลักษณะเดียวกัน และได้มีการชำระค่าธรรมเนียมในการขอรับการอนุญาตประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว

บทเฉพาะกาล
——————————-

ข้อ 25 ใบอนุญาตตามกฎกระทรวงการเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและการเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ พ.ศ. 2556 ที่ออกให้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุ หรือจนกว่าผู้รับใบอนุญาตจะถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

.

.

ให้ไว้ ณ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564
สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

.

เล่ม 138 ตอนที่ 23 ก ราชกิจจานุเบกษา 30 มีนาคม 2564

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และยกเว้นค่าธรรมเนียม ประกอบกับมาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสอง บัญญัติให้คุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียน การออกใบแทนการขึ้นทะเบียน การเพิกถอนทะเบียน คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การขออนุญาต การอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทน ใบอนุญาต การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงการกำหนดค่าบริการและวิธีการให้บริการ ในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง และจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้


โหลดไฟล์

กฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนและการอนุญาตให้บริการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๖๔