ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย


ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย

———————–

.

โดยที่กฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ข้อ 29 กําหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตราย และส่งรายงานผลการตรวจวัดให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการตรวจวัด

อาศัยอํานาจตามความในข้อ 29 วรรคสองแห่งกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“การตรวจวัด” หมายความว่า การเก็บตัวอย่างสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายเพื่อนํามาวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

หมวด 1
บททั่วไป
——————

ข้อ 4 นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

กรณีที่ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานหรือสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายมีระดับเกินขีดจํากัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย (Threshold Limit Value : TLV) ตามข้อ 28 แห่งกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ให้นายจ้างใช้มาตรการกําจัดหรือควบคุมสารเคมีอันตรายทางวิศวกรรมและการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม เพื่อลดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายมิให้เกินขีดจํากัดดังกล่าว พร้อมทั้งตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายภายในสามสิบวันนับจากวันที่มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ

กรณีผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างมีความผิดปกติหรือพบลูกจ้างเจ็บป่วยเนื่องจากการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ให้นายจ้างดําเนินการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายภายในสามสิบวันหลังจากที่นายจ้างทราบผลความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยเนื่องจากการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

กรณีที่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ชนิด หรือปริมาณของสารเคมีอันตราย เครื่องจักร อุปกรณ์ กระบวนการผลิต วิธีการทํางาน หรือวิธีการดําเนินการใด ๆ ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตราย ให้นายจ้างดําเนินการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายภายในสามสิบวันนับจากวันที่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง

หมวด 2
การตรวจวัด และการวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ
——————

ข้อ 5 การตรวจวัด และการวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ นายจ้างต้องใช้วิธีการ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานสากลหรือเป็นที่ยอมรับโดยอ้างอิงวิธีการจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังนี้

(1) สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The National Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH)

(2) สํานักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration : OSHA)

(3) สมาคมนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐประเทศสหรัฐอเมริกา (American Conference of Governmental Industrial Hygienists : ACGIH)

(4) สมาคมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น(Japan Industrial Safety and Health Association : JISHA)

(5) องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO)

(6) สํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

(7) สมาคมการทดสอบและวัสดุอเมริกัน (American Society for Testing and Materials : ASTM)

นายจ้างต้องจัดให้มีการสอบเทียบความถูกต้อง (Calibration) การตรวจสอบ การบํารุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัด และเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการตามวิธีการของหน่วยงานมาตรฐานอ้างอิงตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตกําหนด ทั้งนี้ ให้ใช้วิธีการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และเก็บหลักฐานไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้

หมวด 3
คุณสมบัติของผู้ดําเนินการตรวจวัด
และผู้ดําเนินการตรวจวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ
——————

 ข้อ 6 ผู้ดําเนินการตรวจวัดต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี สาขาเคมีเทคนิค สาขาเคมีวิเคราะห์ สาขาเคมีอินทรีย์ สาขาเคมีอนินทรีย์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า หรือปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ข้อ 7 ผู้ดําเนินการตรวจวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี สาขาเคมีเทคนิค สาขาเคมีวิเคราะห์ สาขาเคมีอินทรีย์ สาขาเคมีอนินทรีย์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า

(2) มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สาขาอื่นที่มีวิชาเรียนทางด้านเคมีไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และมีประสบการณ์วิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี

(3) เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักวิเคราะห์มืออาชีพสาขาเคมีของกรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือเป็นผู้ควบคุมดูแลห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หมวด 4
การจัดทํารายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย
——————

 ข้อ 8 ให้นายจ้างจัดให้มีการรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตราย ตามเอกสารรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทํางานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตราย (สอ.3) ท้ายประกาศนี้ และให้ส่งรายงานดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย

การดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับการรับรองรายงานผลจากผู้ดําเนินการตรวจวัดและผู้ดําเนินการตรวจวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ

การส่งรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างส่งด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ

ข้อ 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

.

ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
สุเมธ มโหสถ
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

.

เล่ม 133 ตอนพิเศษ 308 ง ราชกิจจานุเบกษา 27 ธันวาคม 2559


โหลดไฟล์

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย (ฉบับที่ ๒)