10 ขั้นตอน ตรวจความปลอดภัยให้ได้งาน

10 ขั้นตอนตรวจความปลอดภัยให้ได้งาน Read More


10 ขั้นตอน #ตรวจความปลอดภัยให้ได้งาน
10 Steps for a Successful Safety Site Visit


หลายคน น่าจะเคยเจอเรื่องเหล่านี้..เช่น

ก็เดินตรวจความปลอดภัยทุกวันนะ…
แต่ไม่แน่ใจว่า จะช่วยให้ดีขึ้นจริงไหม..หรือ
ไปเดิน ๆ ไม่รู้ว่า..ต้องทำอะไร? คอมเม้นอะไร?
หรือ หลายบริษัทมีผู้บริหารแวะเวียนไปเยี่ยม..
แต่ไม่เคยให้เขาเดินตรวจความปลอดภัยเลย

ผมจะขออนุญาตแชร์ไอเดียในการไปตรวจเยี่ยมไซต์งาน หรือ พื้นที่ทำงาน ซึ่งผมได้ศึกษาหาอ่านมาจากกลุ่ม LinkedIn แต่พอดีเป็นภาษาอังกฤษ เลยจะขอแปล และใส่รายละเอียดเพิ่มเติมจากประสบการณ์หน้างานของผมเองด้วย..

ผมเคยทำงานกับบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่ง เขาจะให้ผู้บริหารที่เดินทางไปไซต์อื่นทั้งในและต่างประเทศต้องเดินตรวจความปลอดภัย (Safety Patrol) พร้อมกับทำรายงานด้วย
ไม่ใช่จะมาประชุมๆๆ เสร็จแล้วไปเที่ยว แล้วเปิดตูดกลับประเทศ ซึ่งวิธีนี้เขาเรียกมันว่า Fresh eyes แปลว่า ตาใส (แหะๆ😅)

..หลักการคือ ให้คนอยู่ต่างไซต์ต่างพื้นที่ มาเดินดู
ว่าเขาจะเห็นสิ่งผิดปกติอะไรหรือไม่
..เนื่องจากเราอยู่ในที่ทำงานทุกๆ วัน อาจมองไม่เห็นอันตรายที่ซ่อนอยู่ หรือ อาจมีข้อแนะนำดี ๆ จากไซต์งานอื่นมาให้แนะนำเราได้
ที่สำคัญ ช่วยกระทุ้งประเด็นปัญหาที่ค้างๆคาๆ ได้ด้วยนะเออ.. น่าสนใจดีไหมครับ😊👍

กลับมาเรื่องการตรวจความปลอดภัยที่จะเล่านี้..เป็นการไปตรวจในเชิงคล้ายๆ ไป audit หรือเยี่ยมชม นานๆ ไปที ไม่ใช่ไปทุกวัน..
……………….

และนี่คือ 10 ขั้นตอนในการไปตรวจความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ ให้ได้งาน..

Step 1 – เมื่อมาถึงสถานที่ บางคนอาจลืมไปว่า 2-3 นาทีแรกเมื่อไปถึงไซต์งานนั้น เป็นเวลาทองเลยล่ะ…ทำไมนะหรือ?

ก็เพราะเรามีโอกาสจะเห็นภาพพื้นที่โดยรวมว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เราควรจะได้เห็น อยากจะให้เราลองมองหา..
▪ ความประทับใจแรก..สิ่งนี้ทำให้เรามีเรื่องพูดคุยกับคนที่อยู่ที่นี่ได้
▪ การจัดการพื้นที่ ความสะอาด เรียบร้อยทั่วๆ ไปเป็นไงบ้าง
▪ มี best practice (อย่าลืมถ่ายภาพไว้ด้วย ไม่ใช่จะมองหาแต่สิ่งที่ผิด)
▪ ทางเข้า-ทางออกไซต์ชัดเจน มีป้าย สัญลักษณ์ หรือ กฎระเบียบให้เห็น
▪ มีแผนผัง lay out หรือ ประกาศ หรือ ระเบียบต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด

– เป็นต้น –

ภาพ pixabay

Step 2 – เดินเข้าไซต์งาน

ขณะที่คุณเดินเข้าพื้นที่และตรงไปยังออฟฟิศ หรือ ที่นัดหมาย พบสิ่งเหล่านี้หรือไม่…
▪ สิ่งต่าง ๆ อยู่ในที่ที่มันควรอยู่ไหม
▪ รู้สึกถึงความปลอดภัยเมื่อเดินไหม เช่น มีเส้นทางเดิน มีเครื่องจักรอยู่ใกล้ เป็นต้น
▪ ไม่สามารถเดินดุ่มๆ เข้าไปได้เลยโดยไม่มีใครพาไป หรือ
▪ มีคนแนะนำนั่นนี่ พาเดินแนะนำนั่นนี่คร่าว ๆ
▪ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ทำงานได้เองหากไม่ได้รับอนุญาต

– เป็นต้น –

Step 3 – การแนะนำความปลอดภัยเบื้องต้น

ในการตรวจเยี่ยมที่ใดก็แล้วแต่ ต้องมีการแนะนำกฎระเบียบความปลอดภัยก่อนเสมอ เช่น

  • บอกข้อมูลของอันตราย ความเสี่ยง ในพื้นที่
  • หัวหน้างานสามารถแนะนำอันตราย ความเสี่ยงได้
    ..สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราได้เจอหรือไม่

Step 4 – การเริ่มต้นในการตรวจ

ให้แจ้งวัตถุประสงค์ในการมา รวมถึง สิ่งที่คาดหวัง และ สิ่งที่จะทำหลังจากนี้ เป็นต้น
บางที่อาจมีอบรมก่อนเริ่มเป็นเรื่องเป็นราว ก็อย่าลืมลงบันทึก ลงชื่อผู้เข้าร่วมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานได้

ภาพ pixabay

Step 5 – การเข้าตรวจเยี่ยมไซต์งาน

หากผู้รับผิดชอบพื้นที่ หรือหัวหน้างาน เป็นผู้นำพาเข้าพื้นที่ เราอาจประเมินได้ระดับหนึ่งว่า ที่นี่มีผู้นำด้านความปลอดภัยนะ😀
โดยขณะที่อยู่ในพื้นที่ สิ่งที่เราจะต้องมองให้ออก ประกอบด้วย เช่น

  • ท่าทางการทำงาน เช่น การเปลี่ยนท่า การปรับเปลี่ยนการทำงาน หรือ การสวมใส่ PPE
  • มีความเสี่ยงในการติด ยืนระหว่างเครื่องจักร การตก การลื่น หรือ การชน หรือไม่
  • อุปกรณ์ PPE เหมาะสมกับงาน
  • เครื่องมือ อุปกรณ์ เหมาะสมกับงาน/ ใช้งานอย่างถูกต้อง หรือมีสภาพดี
  • มีมาตรฐาน/ขั้นตอนการทำงานอย่างเหมาะสม/มีใช้งาน/และมีการทำอย่างต่อเนื่อง
  • ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
  • พนักงานทราบอันตราย และ ความเสี่ยงที่เขาทำอยู่
  • มีระบบการจัดการต่างๆ เช่น ขยะ สารเคมี เส้นทางเดิน ทางหนีไฟ จุดรวมพล เป็นต้น

Step 6 – ลองทำ LMRA

LMRA หรือ Last minute risk assessment แปลตรงๆ คือ การประเมินความเสี่ยงในนาทีสุดท้าย (ใช้ในหลายหลายธุรกิจ) โดยก่อนเริ่มงาน พนักงานทุกคนจะต้องได้รับการอบรม LMRA เพื่อให้ทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และวิธีปฏิบัติร่วมทั้งขั้นตอนการป้องกันอันตราย ขจัดความเสี่ยงอันตรายในงานนั้นๆ ให้มีความปลอดภัยอย่าง 100%

..ดังนั้น เมื่อเราไปตรวจ สิ่งที่ต้องทำคือ พูดคุยกับพนักงานที่หน้างาน เพื่อให้ทราบระดับการรับรู้ ความตระหนักด้านความปลอดภัย ขั้นตอน ฯลฯ
(มีเวลาจะมาเขียนเล่า LMRA เพิ่มนะครับ)

..อย่าลืม!!!…
อย่าไปชวนคุยตอนที่พนักงานกำลังทำงานเสี่ยงอยู่ละ..เดี๋ยวจะเกิดอุบัติเหตุ ให้เราไปคุยกับคนอื่นก่อน สอบถาม และค่อยสังเกตพฤติกรรมคนทำงานอีกที หรือ ขอคุยก่อนสักครู่..
..สิ่งที่เราต้องทำ ตัวอย่างเช่น

  • สร้างความเชื่อมั่นว่าเรามาทำอะไร จะช่วยเขาให้ปลอดภัยอย่างไร
  • ใช้คำถามปลายเปิด ให้เขาได้เล่า ได้พูด เช่น
  • ช่วยเล่าเกี่ยวกับงานของคุณให้ฟังได้ไหม
  • มีสิ่งใดบ้างที่คิดว่าไม่ถูกต้อง
  • คุณคิดว่าจะป้องกันอย่างไร
  • ใครจะได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้บ้าง
  • เราจะทำอย่างไรดีให้ปลอดภัยมากกว่านี้
  • กรณีมีเหตุฉุกเฉินคุณจะทำยังไง… เป็นต้น
  • หากทำได้ ให้ประเมินว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรได้บ้าง และมาตรการควรจะเป็นอย่างไร (ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ถาม)
  • อย่าลืม..กล่าวชื่นชม และ ขอบคุณ
  • ให้พนักงาน คนงาน ให้คำมั่นสัญญา หรือ พูดออกมาให้ได้ ว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัย (อันนี้สำคัญ)
    ..บางบริษัทอาจเรียกวิธีการนี้ว่า…
    SWAT หรือ Safety Walk and Talk
    สิ่งนี้จะทำให้เราทราบว่า พนักงานเข้าใจเรื่องความปลอดภัยมากน้อยขนาดไหน
    เขาสามารถบอกสิ่งที่เขาต้องรู้ได้หรือไม่ หรือ
    หัวหน้างานรับทราบเรื่องเหล่านี้หรือไม่ และ
    ทุกคนมีส่วนร่วมในความปลอดภัยได้อย่างไรบ้าง
  • เป็นต้น –

Step 7 – feedback ให้คำแนะนำหลังตรวจเยี่ยม

หลังจากตรวจเยี่ยมไซต์งานแล้ว จะต้องทำการให้คำแนะนำ หรือ บอกสิ่งที่ตรวจพบ ทั้งด้านดี และไม่ดี ตัวอย่างหัวข้อที่น่าจะพูดคุย เช่น

  • บทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้
  • สิ่งที่ได้ตกลงกันว่าจะลงมือทำ
  • การให้คำปรึกษา แนะนำซึ่งกันและกัน ทั้งฝ่ายตรวจเยี่ยมและเจ้าของพื้นที่รวมถึงพนักงาน
  • สรุปภาพรวมทั่วไปที่พบเจอ
    ..การทำสิ่งนี้ จะทำให้หัวหน้างาน ได้แสดงให้เห็นความเป็นผู้นำ leadership ด้านความปลอดภัย เพราะเขาต้องรับทราบและนำไปปฏิบัติต่อ..
    และอย่าลืม…ข้อแนะนำเราต้อง SMART
    S – Specific เฉพาะเจาะจง
    M – Measurable วัดผลได้
    A – Acceptable ยอมรับได้
    R – Realistic and ทำได้จริง
    T – Time related มีระยะเวลา

Step 8 – การตกลงร่วมกัน

ข้อตกลง หรือสิ่งที่จะร่วมกันนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยอาจจะคุยกัน หรือ ประชุมหน้างาน หรือกลับมาคุยที่ออฟฟิศก็ได้
..บอกสิ่งที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข ให้หัวหน้างาน/ผู้จัดการที่ดูแล รับทราบ โดยต้องระบุให้แน่ชัดว่า ให้ทำอะไร ใครรับผิดชอบ จะเสร็จเมื่อไร ทำอย่างไร (5W1H) เป็นต้น

Step 9 – สรุปจบการตรวจเยี่ยม

ต้องจบด้วยความเป็นมิตร เชิงบวก เน้นย้ำว่าการตรวจเยี่ยมเป็นระยะ ๆ จะช่วยพัฒนางานความปลอดภัยได้
..อย่างไรก็แล้วแต่ งานบางอย่าง อาจแก้ไขไม่ได้ในชั่วข้ามคืน แต่.. เราก็ต้องติดตาม และต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจริงๆ ถึงจะให้ทำต่อได้ ซึ่งถ้าไม่ปลอดภัย..การหยุดงานนั้น ๆ ไว้ก่อน นั่นคือเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ในช่วงนี้ เราอาจจะให้พนักงานหน้างาน มาแชร์ข้อคิดเห็นร่วมด้วยก็ได้ และหัวหน้างาน / และพนักงาน ต้องมีส่วนรับรู้ ถึงแม้ว่าบางอย่างจะเป็นสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง

ภาพ pixabay

Step 10 – การติดตามการปรับปรุงแก้ไข

แน่นอนว่าเราอาจจะต้องมีการตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามอีกในอนาคต ซึ่งเราอาจใช้วิธีการ ขอดูเอกสาร รายงาน ภาพถ่าย เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ได้
..อย่าลืม…

พยายามให้เครดิตหัวหน้างาน และพนักงาน ที่เขามีส่วนร่วมในการปรับปรุงความปลอดภัยด้วยทุกครั้ง

..จากสิ่งที่ผมเล่าทั้งหมดในข้างต้น..ประสบการณ์ของผมมันบอกว่า การมีคนมาแนะนำ มาตรวจเยี่ยม มาทำ fresh eyes ที่หน่วยงานของเรา สามารถทำให้บริษัท หรือ พื้นที่ทำงานของเรา มีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านความปลอดภัยได้จริงครับ

หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่ได้อ่าน ไม่มากก็น้อย ถ้าจะให้ดี ลองนำไปปฏิบัติและมาเล่าสู่กันฟังว่า ได้ผลดีไม่ดี อย่างไรบ้างนะครับ
………………
ขอบคุณครับ
โอ พิพัฒพล