วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ-บทเรียนจากเหตุไฟไหม้ โรงงานเคเดอร์

วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
26 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์ และบทเรียนจากเหตุไฟไหม้

บทความโดย : โอ พิพัฒพล
==================

วันนี้ เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (บางคนบอก มีด้วยเหรอ เกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน)
ผมอยากจะเขียนเล่าเรื่องเหตุการณ์เกี่ยวกับไฟไหม้สัก 2-3 เรื่อง เพราะที่มาของ วันความปลอดภัยของไทยแลนด์ ก็มาจากเหตุการณ์ที่เกิดไฟลุกลามเผาไหม้โรงงาน จนทำให้คนตายถึง 188 คน (เป็นอย่างน้อย) ทำให้ตอนนั้น ไทยกระโดดขึ้นไปอยู่แถวหน้าของประเทศที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนตาย ในการทำงาน ในคราวเดียว สูงที่สุดอันดับ 1 ของโลกทันที

เหตุการณ์อันแรก คือ เหตุไฟไหม้โรงงาน Triagle Shirtwaist ในนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1911 ทำให้มีคนงานเย็บผ้าเสียชีวิตถึง 146 คน เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา

อาคารโรงงานนี้สร้างโดยไม่ใช้วัสดุติดไฟ เรียกว่าเป็น fireproof building แต่ไม่มีสปริงเกอร์ สาเหตุที่ทำให้มีคนเสียชีวิตมาก เพราะขณะเกิดเหตุมีการล็อกประตูที่จะออกไปยังบันไดและทางออก ทางหนีไฟก็ไม่เพียงพอ ข้อมูลในตอนนั้นระบุว่า เขาล็อกเพื่อป้องกันคนไปขโมยของ และออกไปพักโดยไม่ได้รับอนุญาต คนงานจำนวนมากจึงไม่สามารถหนีออกจากอาคารได้

การกระโดดจากชั้น 8 – 10 จึงเป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่ต้องนึกภาพว่าหลังจากกระโดดจะเป็นอย่างไรนะครับ คณะกรรมการ Life Safety NFPA จึงออกมาตรฐาน Safeguarding factory workers from fire ออกมาใช้

อีกเหตุการณ์คือ ไฟไหม้ที่ Cocoanut Grove Nightclub เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ปี 1942 มีผู้เสียชีวิตถึง 492 คน เยอะมากๆ และเป็นเหตุรุนแรงอันดับ 2 ของเหตุการณ์ไฟไหม้อาคาร รองจากไฟไหม้โรงละคร Iroquois ในชิคาโก เมื่อปี 1903 ที่มีคนเสียชีวิต 602 คน

สถานบันเทิง Cocoanut Grove Nightclub มีทางเข้าออกทางเดียวด้านหน้า ประตูเป็นแบบ Revolving door หรือประตูหมุน มีจัดโซนของร้านออกเป็นหลายโซนและมีทางเชื่อมถึงกัน ทางออกด้านหลังมีแต่ถูกปิดตาย เพราะเจ้าของร้านกลัวคนจะแอบเข้าโดยไม่จ่ายตังค์ กระจกด้านข้างที่พอจะทุบออกหากมีเหตุฉุกเฉิน ก็ถูกกั้นเป็นกำแพงทึบ เมื่อมีเหตุไฟไหม้ ผู้คนจำนวนมากก็แตกตื่น และวิ่งมาหาทางออกทางเดียว ก็คือทางเข้า ลองนึกภาพดูนะครับว่าคนหนีตายมาเบียดเสียดกันตรงทางออกจะเป็นอย่างไร

https://en.wikipedia.org/wiki/Cocoanut_Grove_fire

ทั้งสองเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ NFPA ได้ทบทวนมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ Life Safety Code มากขึ้น เช่น ห้ามล้อคประตูทางออกฉุกเฉิน ประตูทุกบานต้องเปิดออกไปตามทิศทางการหนี หรือ ต้องมีป้ายระบุจำนวนความจุของคนสูงสุดที่มีได้ เป็นต้น

นั่นคือผ่านมาเกือบ 80 – 100 ปีแล้วนะครับ

 
และเหตุการณ์ที่ถือเป็นบทเรียนที่คลาสสิคเกี่ยวกับทางออกฉุกเฉิน ทางหนีไฟ อีกอัน เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2003 ที่ The Station Nightclub สหรัฐอเมริกาเช่นกัน เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับ ซานติก้าผับในประเทศไทยอย่างมาก (ซานติก้า เกิดปี 2005) คือ มีการเล่นดอกไม้เพลิงบนเวทีคอนเสิร์ต แล้วเกิดการลุกติดไฟกับฉนวนกันเสียง (ฟองน้ำทำจากโพลียูริเทน) ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วและมีควันมาก ไม่ถึง 5 นาทีก็ไหม้เต็มพื้นที่ มีคนตาย 100 คน

สถานที่นี้เป็นอาคารชั้นเดียว พื้นที่เพียง 250 ตารางเมตร แต่มีคนอยู่ถึง 430 คน ไม่มีสปริงเกอร์ แต่มีตัวจับควัน (smoke detector) และทำงานได้ปกติ ภาพคนที่พยายามหนีแล้วมากองตายรวมกันเป็นชั้นๆ ตรงประตูทางออก เป็นภาพฉายที่ซ้ำเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ รวมทั้งซานติก้าผับด้วย
คลิปเหตุการณ์ https://youtu.be/bknYdprA9ug

เหตุการณ์นี้ คณะกรรมการ Life Safety NFPA ได้ปรับปรุงอีกครั้ง โดยระบุเรื่องจำนวนของการรองรับคน และกำหนดการติดตั้งสปริงเกอร์

ถ้าอยากทราบข้อมูลไฟไหม้อื่น ๆ ลองดูลิงค์ของ wiki นี้ได้ครับ
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_building_or_structure_fires
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_fires

 
เหตุไฟไหม้สถานบันเทิงที่น่าสนใจ
– ค.ศ.1940 Rhythm Nightclub, Missisippi, USA เสียชีวิต 209 คน
– ค.ศ.1942 The Cocoanut Grove, Boston, USA เสียชีวิต 492 คน
– ค.ศ.1977 Bevery Hill Supper Club, Kentucky, USA เสียชีวิต 165 คน
– ค.ศ.1996 Ozone Disco Pub, Quezon City, Philippines เสียชีวิต 162 คน
– ค.ศ.2000 Disco Club, Luoyang, China เสียชีวิต 309 คน
– ค.ศ.2003 The Station Nightclub, USA เสียชีวิต 100
– ค.ศ.2004 Nightclub Buenos Aires, Argentina เสียชีวิต 194 คน
– ค.ศ.2005 Santika Pub Bangkok, Thailand เสียชีวิต 66 คน
– ค.ศ.2009 Lame Horse Nightclub Perm, Russia เสียชีวิต 152 คน
– ค.ศ.2013 The Kiss nightclub in Santa Maria, Brazil เสียชีวิต 233 คน

 
กลับมาที่ วันความปลอดภัยของประเทศไทย
วันนี้ ครบรอบ 2ุ6 ปี เหตุการณ์เกิดอุบัติเหตุ (ไฟไหม้) ในโรงงาน ที่มีคนตายมากที่สุดในโลกอีกเหตุการณ์หนึ่ง นั่นคือ เหตุไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตา ของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เครือซีพี และบริษัทในต่างประเทศ

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. มีคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นไม่ต่ำกว่า 1,800 คน มีผู้เสียชีวิต 188 ราย และบาดเจ็บ 469 คน จำนวนนี้ จากหลาย ๆ สื่อที่ทำข่าว ให้ข้อมูลตรงกันว่า มีผู้สูญหายอีกหลายสิบรายที่ไม่ได้รายงานตัวเลข

เหตุเกิดที่อาคาร 1 ชั้น 1 ซึ่งสาเหตุของไฟไหม้ ยังเป็นที่กังขา ว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร พนักงานสูบบุหรี่ หรือแม้แต่ การวางเพลิงเผาเอาประกัน

อาคารนี้ไม่ได้ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ โครงสร้างเหล็กไม่ทนความร้อน ทำให้เมื่อไฟไหม้ มีเหตุอาคารถล่มร่วมด้วย แต่สาเหตุต้นตอของเหตุการณ์ (Root cause) อาจกล่าวได้ว่า เกิดจาก นายจ้าง ไม่ได้ใส่ใจต่อการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เพราะก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง รวมถึงมีหนังสือของราชการเกี่ยวกับการให้ดำเนินการปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานด้วย จากเหตุการณ์นี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกประกาศ กฎกระทรวงฉบับที่ 48 ออกมาบังคับใช้

หลังจากนั้นในปี 2540 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น #วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ นับแต่นั้นมา….

ถ้าสังเกต เราจะพบความเชื่อมโยงของแต่ละเหตุการณ์ครับ ไม่ว่าจะของต่างประเทศหรือของไทยเรา จริง ๆ แล้ว มาตรฐาน หรือ ข้อกำหนด หรือ กฎหมาย มันมีอยู่แล้วให้ปฏิบัติ (ถึงจะดีบ้างไม่ดีบ้าง) บทเรียนกรณีศึกษาไฟไหม้ตั้งแต่อดีตที่มีการเก็บข้อมูล ก็มีให้เราเรียนรู้ศึกษา เทียบเคียงกันได้คล้ายๆ กัน แต่บางทีเราอาจเลือกที่จะไม่สนใจทำ ไม่เอามาปรับใช้ พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ส่วนใหญ่นั้นทำ ก็คือ การหาคนผิด…หรือโทษคนอื่นว่าทำไม่ถูก ก็แปลกดี..

ความสูญเสียครั้งหลายเหตุการณ์ในอดีต..
ก็ยังคงฉายชัดในความทรงจำของหลายๆ คนจวบจนถึงทุกวันนี้ ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เราก็ยังคงเดินหน้ากันไปอย่างช้า ๆ
ยุคไทยแลนด์ 4.0 SAFETY THAILAND, SAFETY TOGETHER ที่เราพูดกันในงานครบรอบวันนี้จะมีทิศทางอย่างไร? ผมเชื่อว่าพี่น้องผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง ประชาชนคนไทย มีความหวัง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเสมอ เพราะหลายชีวิตอาจมีโอกาสเลือกงานทำได้..ไม่มากนัก
แต่ ความปลอดภัย คือ สิทธิ ที่พวกเขาต้องได้รับ และชีวิตของเขา ต้องได้การคุ้มครองอย่างเท่าเทียม อย่าปล่อยให้บทเรียนเหล่านี้…เป็นแค่อดีตที่ค่อยๆ จางหายไปและวนเวียนกลับมาให้เรียนรู้ แบบซ้ำซาก
.
.
ฝากไว้ในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติครับ

ขอบคุณครับ
โอ พิพัฒพล
(ต้นฉบับ 10/5/2561)

…………………
อ้างอิง
https://prachatai.com/journal/2009/05/23912
TEMCA Magazine Vol.15 Issue4 2009 บทเรียนความสูญเสียจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงซานติก้าผับ
ภาพ PPTVHD, Wikipedia, และอินเตอร์เนต