ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ


ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ

———————–

.

โดยที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562 ข้อ 20 กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัยตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด

อาศัยอำนาจตามข้อ 20 แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมวด 1
หลักเกณฑ์ และวิธีการฝึกอบรม
————–

ข้อ 2 ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่ลูกจ้างผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และต้องจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อทบทวนความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

กรณีลูกจ้างมีการเปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้กับลูกจ้างผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ก่อนเริ่มการทำงาน

กรณีที่นายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งได้ ให้นายจ้างจัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการฝึกอบรมกับนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ นิติบุคคลดังกล่าวต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 20 แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562

ข้อ 3 ในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ นายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 ต้องดำเนินการ ดังนี้

(1) ให้แจ้งกำหนดการ หลักสูตรการฝึกอบรม พร้อมรายชื่อและคุณสมบัติวิทยากร ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่น้อยกว่าเจ็ดวันทำการก่อนการจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ อาจแจ้งเป็นเอกสารด้วยตนเองหรือผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E – Service) ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

(2) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรที่กำหนด

(3) จัดให้มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมตามหลักสูตร

(4) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม

(5) ออกหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม โดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้

(ก) ชื่อหน่วยงานที่ออกหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรม พร้อมระบุข้อความว่า “จัดฝึกอบรมโดยนายจ้าง” หรือ “จัดฝึกอบรมโดยนิติบุคคลได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 ใบอนุญาต เลขที่ …”

(ข) ชื่อและนามสกุลของลูกจ้างหรือบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรม

(ค) ชื่อหลักสูตรที่ผ่านการฝึกอบรม

(ง) สถานที่ตั้งในการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

(จ) วัน เดือน และปี ที่เข้ารับการฝึกอบรม

(ฉ) ลงนามโดยนายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11

ข้อ 4 ผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องจัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้อง มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคทฤษฎีไม่เกินสามสิบคน และวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน และในภาคปฏิบัติต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคนต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินสิบห้าคน

ข้อ 5 ในการฝึกภาคปฏิบัติ

กรณีนายจ้างเป็นผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติในสถานที่จริงหรือมีลักษณะเหมือนสถานที่จริง

กรณีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 เป็นผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติสถานที่ตั้งที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมอย่างทั่วถึงทุกคน

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

(2) มีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หรือโรคอื่นซึ่งแพทย์เห็นว่าการเข้าไปในที่อับอากาศอาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม

ข้อ 6 รายการอุปกรณ์การฝึกอบรมภาคปฏิบัติอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย

(1) เครื่องตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ

(2) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือ ระเบิดได้

(3) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มของสารเคมีในบรรยากาศ

(4) เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้

(5) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามเนื้อหาหลักสูตร ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดส่งอากาศช่วยหายใจ อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

ในการฝึกอบรม ให้นายจ้างเลือกใช้เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศตามความเหมาะสมกับสารเคมีที่มีในสถานประกอบกิจการ

หมวด 2
หลักสูตรการฝึกอบรม
————–

ข้อ 7 หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ มีดังนี้

(1) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต

(2) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน

(3) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ

(4) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

(5) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

(6) หลักสูตรการฝึกอบรมทบทวนความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ

ข้อ 8 หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าเจ็ดชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรมหนึ่งวัน ดังนี้

(1) ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมห้าชั่วโมง

(ก) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ข) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ค) การชี้บ่งอันตรายและการประเมินสภาพอันตราย การประเมินสภาพพื้นที่และงาน และการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ง) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย สามสิบนาที

(จ) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศและอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที

(ฉ) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ และหลักการตัดแยกพลังงานเพื่อความปลอดภัย สามสิบนาที

(ช) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และการสื่อสารระหว่างผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(2) ภาคปฏิบัติต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง

(ก) เทคนิคการตรวจสภาพพื้นที่และงาน ก่อนตัดสินใจอนุญาต ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ข) เทคนิคในการควบคุมการทำงานในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

ข้อ 9 หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรมสองวันต่อเนื่อง ดังนี้

(1) ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมเก้าชั่วโมง

(ก) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ข) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ค) การชี้บ่งอันตรายและการประเมินสภาพอันตราย การประเมินสภาพพื้นที่และงาน และการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ง) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ และหลักการตัดแยกพลังงานเพื่อความปลอดภัย สามสิบนาที

(จ) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และการสื่อสารระหว่างผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ฉ) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ช) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ซ) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที

(ฌ) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ญ) เทคนิคในการจัดทำแผนปฏิบัติงานและการป้องกันอันตราย หนึ่งชั่วโมง

(ฎ) การควบคุมดูแล การใช้เครื่องป้องกัน อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต หนึ่งชั่วโมง

(2) ภาคปฏิบัติต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง

(ก) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(ข) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(ค) เทคนิคในการควบคุมการทำงานในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(ง) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(จ) การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(ฉ) สถานการณ์การปฏิบัติงานในที่อับอากาศในสภาพปกติ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

ข้อ 10 หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าสิบแปดชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรมสามวันต่อเนื่อง ดังนี้

(1) ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมสิบสองชั่วโมง

(ก) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ข) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ค) การชี้บ่งอันตรายและการประเมินสภาพอันตราย การประเมินสภาพพื้นที่และงาน และการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ง) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย หนึ่งชั่วโมง

(จ) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศและอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ฉ) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ และหลักการตัดแยกพลังงานเพื่อความปลอดภัย สามสิบนาที

(ช) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และการสื่อสารระหว่างผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ซ) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ฌ) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ญ) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกภัย หนึ่งชั่วโมง

(ฎ) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต หนึ่งชั่วโมง

(ฏ) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น และการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น (CPR) สองชั่วโมง

(2) ภาคปฏิบัติต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง

(ก) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ข) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ค) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่า สามสิบนาที

(ง) การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(จ) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ฉ) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น และการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น (CPR) ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ช) สถานการณ์การปฏิบัติงานในที่อับอากาศในสภาพปกติ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

ข้อ 11 หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรมสองวันต่อเนื่อง ดังนี้

(1) ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมเก้าชั่วโมง

(ก) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ข) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ค) การชี้บ่งอันตรายและการประเมินสภาพอันตราย การประเมินสภาพพื้นที่และงาน และการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ง) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย หนึ่งชั่วโมง

(จ) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศและอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ฉ) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ช) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และการสื่อสารระหว่างผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ซ) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ฌ) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ญ) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกภัย หนึ่งชั่วโมง

(2) ภาคปฏิบัติต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง

(ก) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสี่สิบห้านาที

(ข) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสี่สิบห้านาที

(ค) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่า สามสิบนาที

(ง) สถานการณ์การปฏิบัติงานในที่อับอากาศในสภาพปกติ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

ข้อ 12 หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรมสี่วันต่อเนื่อง ดังนี้

(1) ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมสิบห้าชั่วโมง

(ก) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ข) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ค) การชี้บ่งอันตรายและการประเมินสภาพอันตราย การประเมินสภาพพื้นที่และงานและการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ง) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย หนึ่งชั่วโมง

(จ) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศและอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ฉ) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ และหลักการตัดแยกพลังงานเพื่อความปลอดภัย สามสิบนาที

(ช) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และการสื่อสารระหว่างผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ซ) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ฌ) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(ญ) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที

(ฎ) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(ฏ) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกภัย หนึ่งชั่วโมง

(ฐ) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต หนึ่งชั่วโมง

(ฑ) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น และการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น (CPR) สองชั่วโมง

(ฒ) เทคนิคในการจัดทำแผนปฏิบัติงานและการป้องกันอันตราย หนึ่งชั่วโมง

(ณ) การควบคุมดูแลการใช้เครื่องป้องกันและอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หนึ่งชั่วโมง

(2) ภาคปฏิบัติต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าเก้าชั่วโมง

(ก) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ รวมทั้งการใช้และการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ข) เทคนิคการระบายอากาศ และเครื่องมือการระบายอากาศในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ค) เทคนิคการตรวจสภาพพื้นที่และงาน ก่อนตัดสินใจอนุญาต ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ง) เทคนิคในการควบคุมการทำงานในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

(จ) การอนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการสื่อสาร ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ฉ) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสี่สิบห้านาที

(ช) การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ ไม่น้อยกว่าสี่สิบห้านาที

(ซ) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ฌ) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น และการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น (CPR) ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

(ญ) สถานการณ์การปฏิบัติงานในที่อับอากาศในสภาพปกติ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

ข้อ 13 หลักสูตรการฝึกอบรมทบทวนความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมเฉพาะภาคทฤษฎีไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อเนื่อง อย่างน้อยในหัวข้อวิชา ดังนี้

(1) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ

(2) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ

(3) การชี้บ่งอันตรายและการประเมินสภาพอันตราย การประเมินสภาพพื้นที่และงานและการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ

(4) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย

(5) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ และอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตในที่อับอากาศ

(6) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ และหลักการตัดแยกพลังงานเพื่อความปลอดภัย

(7) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และการสื่อสารระหว่างผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

ข้อ 14 นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างเข้าฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมทบทวนความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ 13 ทุกห้าปีนับแต่วันสุดท้ายของการฝึกอบรมหลักสูตรตามข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 หรือข้อ 12 โดยจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันก่อนครบกำหนดห้าปี

หากนายจ้างมิได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตามหลักสูตรข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 หรือข้อ 12 แล้วแต่กรณี

ข้อ 15 ในการฝึกอบรมลูกจ้างและผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรตามข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 12 และข้อ 13 ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกการอบรมดับเพลิงขั้นต้น ตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอัคคีภัย

หมวด 3
วิทยากรฝึกอบรม
————–

ข้อ 16 วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

(1) มีคุณวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อปี

(2) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบแปดชั่วโมง รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อปี

(3) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ระดับเทคนิค และระดับเทคนิคขั้นสูงมาไม่น้อยกว่าสามปี โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบแปดชั่วโมง รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อปี

(4) สำเร็จการศึกษาเฉพาะทางหรือผ่านการอบรมเฉพาะทางเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อปี

ข้อ 17 นายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 ต้องจัดให้วิทยากรได้รับการฝึกอบรมหรือเพิ่มเติมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าหกชั่วโมงต่อปี

หมวด 4
การกำกับดูแล
————–

ข้อ 18 ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรมพร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ข้อ 19 ให้นายจ้างทำรายงานผลการฝึกอบรมตามข้อ 2 ให้เป็นไปตามแบบรายงานผลการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศท้ายประกาศนี้ โดยแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม ทั้งนี้ อาจแจ้งด้วยตนเองหรือผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ (E – Service) ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้

บทเฉพาะกาล
————–

ข้อ 20 ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548 และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตร การฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรม ผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามประกาศนี้

ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องเข้ารับการอบรมตามข้อ 13 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันก่อนครบกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าว เว้นแต่กรณีที่ เป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งมาแล้วตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป จะต้องเข้ารับการอบรมตามข้อ 13 ให้แล้วเสร็จ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศนี้มีผลบังคับใช้

ข้อ 21 ผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติเป็นวิทยากรตามข้อ 16 ของประกาศนี้

.

ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563
อภิญญา สุจริตตานันท์
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

.

เล่ม 138 ตอนพิเศษ 54 ง ราชกิจจานุเบกษา 11 มีนาคม 2564


โหลดไฟล์

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ