กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ. 2563


กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ
ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม
ในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ
พ.ศ. 2563

——————-

.

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้

“งานประดาน้ำ” หมายความว่า งานที่ทำใต้น้ำโดยการดำน้ำ

“นักประดาน้ำ” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการทำงานประดาน้ำ

“หัวหน้านักประดาน้ำ” หมายความว่า นักประดาน้ำซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมการทำงานประดาน้ำทั้งหมด

“พี่เลี้ยงนักประดาน้ำ” หมายความว่า นักประดาน้ำซึ่งทำหน้าที่คอยดูแลช่วยเหลือนักประดาน้ำในการทำงานประดาน้ำ

“นักประดาน้ำพร้อมดำ” หมายความว่า นักประดาน้ำซึ่งทำหน้าที่เตรียมพร้อมจะลงไปช่วยเหลือนักประดาน้ำที่ทำงานประดาน้ำได้ทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

“ผู้ควบคุมระบบการจ่ายอากาศและการติดต่อสื่อสาร” หมายความว่า นักประดาน้ำซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลระบบการจ่ายอากาศและการติดต่อสื่อสารกับนักประดาน้ำซึ่งทำงานประดาน้ำ

หมวด 1
งานประดาน้ำ
——————-

ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับงานประดาน้ำที่ทำในน้ำลึกตั้งแต่สิบฟุตแต่ไม่เกิน สามร้อยฟุต

ข้อ 3 นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานประดาน้ำ ณ สถานที่ใด หรือเปลี่ยนสถานที่การทำงานประดาน้ำ ต้องแจ้งสถานที่นั้นให้พนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบทราบล่วงหน้าก่อนการทำงานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยอาจแจ้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 4 นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำได้รับการตรวจสุขภาพตามกำหนดระยะเวลาและจัดทำบัตรตรวจสุขภาพลูกจ้างไว้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 5 ลูกจ้างซึ่งนายจ้างจะให้ทำงานประดาน้ำต้อง

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

(2) มีสุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง และไม่เป็นโรคตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

(3) มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในงานประดาน้ำโดยต้องผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือหน่วยงานของรัฐรับรอง หรือหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 6 ให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำปฏิบัติหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) หัวหน้านักประดาน้ำ

(ก) วางแผนการทำงานและควบคุมการดำน้ำ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารระหว่างลูกจ้างผู้ทำงานใต้น้ำกับลูกจ้างผู้ทำงานบนผิวน้ำ

(ข) วางแผนการป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นจากงานประดาน้ำ

(ค) ชี้แจงและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบของนักประดาน้ำ ลูกจ้างผู้ทำงานแต่ละคนตามแผนการทำงานแต่ละครั้ง ตลอดจนวิธีการทำงานประดาน้ำ การป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นจากงานประดาน้ำ และดูแลให้นักประดาน้ำทุกคนตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำที่จะใช้ในการทำงานให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงานประดาน้ำ

(ง) ตรวจสอบความพร้อมของนักประดาน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำก่อนการทำงานประดาน้ำ และปริมาณอากาศในขวดอากาศดำน้ำก่อนและหลังการทำงานประดาน้ำ

(จ) ควบคุมเวลาในการทำงานประดาน้ำ ตั้งแต่เวลาเริ่มดำน้ำ เวลาในการทำงานใต้น้ำ เวลาที่กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เวลาที่ต้องพักในระดับความลึกต่าง ๆ และเวลาพักเพื่อปรับสภาพร่างกายก่อนลงไปทำงานใต้น้ำครั้งต่อไป รวมทั้งระยะเวลาการดำน้ำครั้งต่อไป

(ฉ) อยู่สั่งการและควบคุมตลอดเวลาที่มีการทำงานประดาน้ำ

(2) พี่เลี้ยงนักประดาน้ำ

(ก) ศึกษาและทำความเข้าใจแผนการทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยตลอด

(ข) ซักซ้อมและทำความเข้าใจแผนการทำงาน แผนการติดต่อสื่อสาร และแผนการป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นกับนักประดาน้ำ

(ค) ตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำ และช่วยแต่งชุดดำน้ำให้นักประดาน้ำและนักประดาน้ำพร้อมดำ

(ง) บันทึกปริมาณอากาศที่อยู่ในขวดอากาศดำน้ำก่อนและหลังการดำน้ำ และรายงานการบันทึกเวลาการทำงานใต้น้ำของนักประดาน้ำให้หัวหน้านักประดาน้ำทราบทุกขั้นตอน

(จ) ช่วยเหลือนักประดาน้ำในการทำงานประดาน้ำ

(3) นักประดาน้ำ

(ก) ศึกษาและทำความเข้าใจแผนการทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยตลอด

(ข) ตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ทำงานประดาน้ำ

(ค) ปฏิบัติตามแผนการทำงาน กฎเกณฑ์การดำน้ำ และมาตรการความปลอดภัยในการดำน้ำโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการดำขึ้นโดยจะต้องพักในระดับความลึกต่าง ๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้

(4) นักประดาน้ำพร้อมดำ

(ก) เตรียมพร้อมดำน้ำเพื่อช่วยเหลือนักประดาน้ำตามคำสั่งของหัวหน้านักประดาน้ำ

(ข) ตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ทำงานประดาน้ำ

(5) ผู้ควบคุมระบบการจ่ายอากาศและการติดต่อสื่อสาร

(ก) ตรวจสอบและควบคุมการจ่ายอากาศให้นักประดาน้ำตามความลึก

(ข) ควบคุมระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างหัวหน้านักประดาน้ำกับนักประดาน้ำ

หมวด 2
การคุ้มครองความปลอดภัยในการดำน้ำ
——————-

ข้อ 7 นายจ้างต้องควบคุมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำปฏิบัติตามตารางมาตรฐานการดำน้ำและการลดความกดดัน ตลอดจนการพักเพื่อปรับสภาพร่างกายก่อนลงไปทำงานใต้น้ำในครั้งต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 8 นายจ้างต้องจัดให้มีลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำ เจ้าหน้าที่เวชศาสตร์ใต้น้ำ แพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ หรือแพทย์เวชศาสตร์ทางทะเล และอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 9 นายจ้างต้องจัดให้มีบริการการปฐมพยาบาลเบื องต้น และออกซิเจนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์พร้อมหน้ากากช่วยหายใจ เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำตลอดระยะเวลาที่มีการดำน้ำ

ข้อ 10 ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำอาจปฏิเสธการดำน้ำในคราวใดก็ได้ หากเห็นว่าการดำน้ำคราวนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนำมัยของตน

ข้อ 11 นายจ้างและหัวหน้านักประดาน้ำต้องสั่งให้ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำหยุดหรือเลิกการดำน้ำในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อพี่เลี้ยงนักประดาน้ำและนักประดาน้ำไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้

(2) เมื่อนักประดาน้ำต้องใช้อากาศสำรองจากขวดอากาศหรือขวดอากาศสำรอง

(3) เมื่อการดำน้ำในพื้นที่บริเวณนั้นไม่ปลอดภัย

หมวด 3
อุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำ
——————-

ข้อ 12 นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำ ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องประดาน้ำประเภทขวดอากาศ (scuba) ประกอบด้วยอุปกรณ์อย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(ก) ขวดอากาศ

(ข) เข็มขัดน้ำหนัก

(ค) เครื่องผ่อนกำลังดันอากาศและสายผ่อนอากาศสำรอง

(ง) เครื่องวัดความลึก

(จ) เครื่องวัดอากาศ

(ฉ) ชุดดำน้ำ

(ช) ชูชีพ

(ซ) เชือกช่วยชีวิตและทุ่นแสดงตำแหน่ง

(ฌ) ตีนกบ

(ญ) นาฬิกาดำน้ำ

(ฎ) มีดดำน้ำ

(ฏ) สายผ่อนอากาศสำรอง

(ฐ) หน้ากากดำน้ำ

(ฑ) ไฟฉายดำน้ำ

(ฒ) เข็มทิศดำน้ำ

(2) เครื่องประดาน้ำประเภทใช้อากาศจากผิวน้ำ (surface supply) ประกอบด้วยอุปกรณ์อย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(ก) ขวดอากาศสำรอง

(ข) เครื่องอัดอากาศ

(ค) ชุดดำน้ำ

(ง) ชุดสายรัดตัว

(จ) ตะกั่วถ่วงหรือน้ำหนักถ่วง

(ฉ) ตีนกบหรือรองเท้า

(ช) ตู้ควบคุมระบบการจ่ายอากาศและการติดต่อสื่อสาร

(ซ) ถังพักอากาศและทุ่นแสดงตำแหน่ง

(ฌ) มีดดำน้ำ

(ญ) สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายวัดความลึก และเชือกช่วยชีวิต

(ฎ) หัวครอบดำน้ำหรือหน้ากากดำน้ำ

(ฏ) ไฟฉายดำน้ำ

(ฐ) เข็มทิศดำน้ำ

อุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำต้องได้มาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 13 นายจ้างต้องบำรุงรักษาและตรวจสอบอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำตามที่กำหนดในคู่มือของผู้ผลิตอุปกรณ์แต่ละชนิด

บทเฉพาะกาล
——————-

ข้อ 14 ในระหว่างที่อธิบดียังมิได้ออกประกาศตามกฎกระทรวงนี  ให้นำประกาศที่ออกตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ ดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

.

.

ให้ไว้ ณ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

.

เล่ม 137 ตอนที่ 44 ก ราชกิจจานุเบกษา 19 มิถุนายน 2563

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี  คือ โดยที่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 บัญญัติ ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง สมควรกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ อันจะทำให้ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้


โหลดไฟล์

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๓