กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการทำงานเกี่ยวกับรังสี พ.ศ. 2564


กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานการทำงานเกี่ยวกับรังสี
พ.ศ. 2564

——————-

.

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ. 2547

ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้

“รังสี” หมายความว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรืออนุภาคใด ๆ ที่มีความเร็วซึ่งสามารถก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออนได้ในตัวกลางที่ผ่านไป

“ต้นกำเนิดรังสี” หมายความว่า วัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี หรือวัสดุนิวเคลียร์

“วัสดุกัมมันตรังสี” หมายความว่า ธาตุหรือสารประกอบใด ๆ ที่องค์ประกอบส่วนหนึ่งมีโครงสร้างภายในอะตอมไม่คงตัว และสลายตัวโดยปลดปล่อยรังสีออกมา ทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือเกิดจากการผลิต หรือการใช้วัสดุนิวเคลียร์ การผลิตจากเครื่องกำเนิดรังสี หรือกรรมวิธีอื่นใด ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัสดุกัมมันตรังสีที่มีลักษณะเป็นวัสดุนิวเคลียร์

“เครื่องกำเนิดรังสี” หมายความว่า เครื่องหรือระบบอุปกรณ์เมื่อมีการให้พลังงานเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดการปลดปล่อยรังสีออกมา และอุปกรณ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องกำเนิดรังสี

“วัสดุนิวเคลียร์” หมายความว่า

(1) วัสดุต้นกำลัง ได้แก่

(ก) ยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ทอเรียม หรือวัสดุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทั้งนี้ รวมถึงสารประกอบ หรือสารผสมของธาตุหรือวัสดุดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

(ข) แร่หรือสินแร่ซึ่งประกอบด้วยวัสดุตาม (ก) อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง โดยมีอัตราความเข้มข้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

(2) วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ ได้แก่

(ก) พลูโทเนียม ยูเรเนียม 233 ยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะด้วยยูเรเนียม 233 หรือยูเรเนียม 235 หรือสารประกอบของธาตุดังกล่าว

(ข) วัสดุใด ๆ ที่มีวัสดุตาม (ก) อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างผสมเข้าไป

(ค) วัสดุนิวเคลียร์พิเศษอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

(3) วัสดุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

“เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว” หมายความว่า เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ผ่านการใช้งานในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว และไม่นำไปใช้งานในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก

“กากกัมมันตรังสี” หมายความว่า วัสดุไม่ว่าจะอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ดังต่อไปนี้

(1) วัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ บรรดาที่ไม่อาจใช้งานได้ตามสภาพอีกต่อไป

(2) วัสดุที่ประกอบหรือปนเปื้อนด้วยวัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทั้งนี้ วัสดุที่ประกอบหรือปนเปื้อนดังกล่าว ต้องมีค่ากัมมันตภาพต่อปริมาณหรือกัมมันตภาพรวมสูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

(3) วัสดุอื่นใดที่มีกัมมันตภาพตามที่คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว

“ปริมาณรังสีสะสม” หมายความว่า ผลรวมของปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับ

“พื้นที่ควบคุม” หมายความว่า พื้นที่ที่ต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสีและตรวจสอบการได้รับรังสี เพื่อควบคุมการได้รับรังสีหรือป้องกันการแพร่กระจายของการปนเปื้อนทางรังสีของลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี

“ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานหรือทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรังสี

หมวด 1
บททั่วไป
——————-

ข้อ 3 การแจ้งตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด และให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้การดำเนินการดังกล่าวกระทำ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้

(1) ในกรุงเทพมหานคร ให้กระทำ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานครในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการซึ่งต้นกำเนิดรังสีนั้นตั้งอยู่

(2) ในจังหวัดอื่น ให้กระทำ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการซึ่งต้นกำเนิดรังสีนั้นตั้งอยู่

(3) สถานที่อื่นตามที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายประกาศกำหนด โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกและการลดภาระแก่นายจ้าง

ข้อ 4 การเก็บเอกสารหรือหลักฐานไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบจะเก็บโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

หมวด 2
การควบคุมและป้องกันอันตราย
——————-

ข้อ 5 ให้นายจ้างแจ้งประเภทต้นกำเนิดรังสี ปริมาณรังสี และสถานประกอบกิจการซึ่งต้นกำเนิดรังสีนั้นตั้งอยู่ รวมทั้งแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการแจ้งการครอบครองหรือใช้ตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นำต้นกำเนิดรังสีเข้ามาในสถานประกอบกิจการ

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อ 6 บทบัญญัติในข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 ข้อ 17 ข้อ 18 ข้อ 20 ข้อ 21 ข้อ 22 ข้อ 23 ข้อ 24 และข้อ 25 มิให้ใช้บังคับ แก่นายจ้างซึ่งมีต้นกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

ข้อ 7 นายจ้างต้องกำหนดพื้นที่ควบคุมโดยจัดทำรั้ว คอกกั้น หรือเส้นแสดงแนวเขต หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม และจัดให้มีป้ายสัญลักษณ์ทางรังสีพร้อมข้อความเตือนภัยที่เหมาะสมอย่างน้อยเป็นภาษาไทยและภาษาอื่นที่ลูกจ้างสามารถเข้าใจได้แล้วแต่กรณี แสดงให้เห็นชัดเจนในบริเวณนั้น

ข้อ 8 เมื่อกำหนดพื้นที่ควบคุมตามข้อ 7 ให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแล ดังต่อไปนี้

(1) ไม่ให้ลูกจ้างซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีหรือบุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เจ้าหน้าที่ดำเนินการทางเทคนิคเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน แล้วแต่กรณี

(2) ไม่ให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าพักอาศัยหรือพักผ่อน หรือนำอาหาร เครื่องดื่ม หรือบุหรี่ เข้าไปในพื้นที่ควบคุม

(3) ไม่ให้บุคคลใดนำต้นกำเนิดรังสีที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ออกไปนอกพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ได้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(4) ไม่ให้บุคคลใดนำภาชนะหรือวัสดุซึ่งปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ออกไปนอกพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ได้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 9 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี

ข้อ 10 นายจ้างต้องจัดให้มีกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ แนวปฏิบัติ ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสีซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอื่นที่ลูกจ้างสามารถเข้าใจได้ แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งปิดประกาศให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีทราบ ณ บริเวณพื้นที่ปฏิบัติงาน

ข้อ 11 นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยทางรังสีตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีได้รับปริมาณรังสีสะสมเกินปริมาณที่กำหนด

ข้อ 12 นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีประจำตัวบุคคลและต้องควบคุมให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีใช้อุปกรณ์ดังกล่าวตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน

อุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีประจำตัวบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะเป็นอุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีที่ใช้สวมใส่หรือติดไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของตัวลูกจ้าง เพื่อการบันทึกปริมาณรังสีสะสมที่ลูกจ้างได้รับตามช่วงเวลาของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีซึ่งสามารถอ่านค่าได้โดยทันทีหรือนำไปวิเคราะห์ผลในภายหลัง

ข้อ 13 นายจ้างต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณรังสีสะสมที่ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีได้รับเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกสามเดือนขึ้นอยู่กับประเภทของต้นกำเนิดรังสี และต้องแจ้งข้อมูลปริมาณรังสีสะสมดังกล่าวให้ลูกจ้างทราบทุกครั้ง ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลปริมาณรังสีสะสมให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีได้รับปริมาณรังสีสะสมเกินปริมาณที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ให้นายจ้างแจ้งปริมาณรังสีสะสมดังกล่าวพร้อมหาสาเหตุ และการป้องกันแก้ไขต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบข้อมูลปริมาณรังสีสะสม ทั้งนี้ การแจ้งให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

นายจ้างต้องเก็บเอกสารหรือหลักฐานตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไว้ไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างแต่ละรายไว้ ณ สถานประกอบกิจการ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ

ข้อ 14 นายจ้างซึ่งมีต้นกำเนิดรังสีประเภทที่ต้องมีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางเทคนิคเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติอย่างน้อยหนึ่งคนประจำสถานประกอบกิจการตลอดระยะเวลาที่มีการทำงานเกี่ยวกับรังสี

นายจ้างซึ่งมีต้นกำเนิดรังสีประเภทที่ต้องแจ้งการครอบครองหรือใช้ตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานอย่างน้อยหนึ่งคนประจำสถานประกอบกิจการตลอดระยะเวลาที่มีการทำงานเกี่ยวกับรังสี

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองพ้นจากหน้าที่ นายจ้างต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่คนใหม่แทนนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่คนเดิมพ้นจากหน้าที่

ข้อ 15 นายจ้างต้องควบคุมดูแลให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางเทคนิคเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ปฏิบัติหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่นายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสี รวมทั้งให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่นายจ้างในการจัดทำกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ แนวปฏิบัติ ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสี เพื่อให้ลูกจ้างใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน

(2) ตรวจตรำและควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน สภาพการทำงาน การใช้ และการบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือ รวมทั้งการทำความสะอาดและการกำจัดการปนเปื้อนทางรังสีตามข้อ 17 แล้วรายงานนายจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

(3) จัดทำบันทึก สถิติ และสืบหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและโรคที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากรังสี แล้วรายงานนายจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

(4) ประเมินอันตรายจากรังสีในพื้นที่ปฏิบัติงานของลูกจ้างตามหลักวิธีทางด้านรังสีและบันทึกเป็นหลักฐานอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และนำมาวางแผนหรือกำหนดแนวทางป้องกันและระงับอันตราย

ข้อ 16 นายจ้างต้องจัดให้มีที่ล้างมือ ที่ล้างหน้า และที่อาบน้ำ เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีใช้หลังจากปฏิบัติงานหรือก่อนออกจากพื้นที่ปฏิบัติงานของลูกจ้าง และต้องจัดให้มีสถานที่ที่ปลอดภัยในการเก็บชุดทำงานเพื่อให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีถอดชุดทำงานและเก็บไว้ในสถานที่ดังกล่าว

ข้อ 17 นายจ้างต้องจัดให้มีการทำความสะอาดชุดทำงานที่ใช้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องใช้ รวมทั้งสถานที่ที่มีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

ข้อ 18 นายจ้างต้องจัดให้มีแผนเพื่อป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี และต้องจัดให้มีการฝึกซ้อมตามแผนดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และเก็บเอกสารหรือหลักฐานการฝึกซ้อมไว้ ณ สถานประกอบกิจการ ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ

ในกรณีที่นายจ้างจัดให้มีแผนเพื่อป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่านายจ้างได้จัดให้มีแผนตามวรรคหนึ่งแล้ว

ข้อ 19 ในกรณีที่ต้นกำเนิดรังสีรั่วไหล หก หล่น หรือฟุ้งกระจาย เกิดอัคคีภัย หรือเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีอันอาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทุกคนหยุดการทำงานและออกไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยทันที และให้นายจ้างดำเนินการตามแผนเพื่อป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีทันที

ข้อ 20 นายจ้างต้องเก็บรักษา เคลื่อนย้าย และขนส่งต้นกำเนิดรังสี รวมทั้งจัดการกากกัมมันตรังสีหรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

หมวด 3
สัญลักษณ์ทางรังสี สัญญาณเตือนภัย และระบบสัญญาณฉุกเฉิน
——————-

ข้อ 21 นายจ้างต้องจัดให้มีสัญลักษณ์ทางรังสีพร้อมข้อความเตือนภัยจากรังสีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนบริเวณพื้นที่ควบคุม ต้นกำเนิดรังสี กากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ทั้งนี้ สัญลักษณ์ทางรังสีพร้อมข้อความเตือนภัยดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

ข้อ 22 นายจ้างต้องจัดให้มีสัญญาณไฟสีแดงหรือป้ายสัญลักษณ์เตือนภัยให้เห็นได้อย่างชัดเจนขณะที่มีการใช้งานต้นกำเนิดรังสี

ข้อ 23 นายจ้างต้องจัดให้มีระบบสัญญาณฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีเพื่อให้ลูกจ้างออกไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย โดยสัญญาณฉุกเฉินต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) ระบบสัญญาณฉุกเฉินต้องเปล่งเสียงให้ลูกจ้างซึ่งทำงานภายในอาคารได้ยินอย่างทั่วถึง

(2) อุปกรณ์ที่ทำให้เสียงของสัญญาณฉุกเฉินทำงานต้องอยู่ในที่เด่นชัดและเข้าไปถึงได้ง่าย

(3) สัญญาณฉุกเฉินจะต้องมีเสียงที่แตกต่างไปจากเสียงที่ใช้ในสถานประกอบกิจการทั่วไป และห้ามใช้เสียงดังกล่าวในกรณีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

(4) กิจการสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ไม่ต้องการใช้เสียง ต้องจัดให้มีอุปกรณ์หรือมาตรการอื่นใดที่สามารถแจ้งเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สัญญาณไฟ รหัส นายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานของระบบสัญญาณฉุกเฉินอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และเก็บเอกสารหรือหลักฐานการทดสอบไว้ ณ สถานประกอบกิจการ ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ

หมวด 4
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
——————-

ข้อ 24 นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น หมวกพลาสติก ถุงมือผ้าหรือยาง รองเท้า เสื้อคลุมที่ทำด้วยฝ้ายหรือยาง แว่นตา ที่กรองอากาศ เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์อื่นที่จำเป็น ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันหรือลดอันตรายจากรังสีที่จะเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีใช้หรือสวมใส่ตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามสภาพและลักษณะของงาน

นายจ้างต้องควบคุมดูแลให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีไม่ใช้หรือไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล นายจ้างต้องสั่งให้ลูกจ้างดังกล่าวหยุดปฏิบัติงาน ทันทีจนกว่าจะได้ใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว

ข้อ 25 นายจ้างต้องดำเนินการเกี่ยวกับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลดังต่อไปนี้

(1) จัดทำคู่มือหรือเอกสารเกี่ยวกับประโยชน์ วิธีการใช้ และวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พร้อมทั้งแจกจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีทุกคน ทั้งนี้ คู่มือและเอกสารอย่างน้อยต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอื่นที่ลูกจ้างสามารถเข้าใจได้ แล้วแต่กรณี

(2) สาธิตเกี่ยวกับวิธีการใช้และวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีทราบ

(3) กำหนดมาตรการหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งแจ้งให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีทราบ

บทเฉพาะกาล
——————-

ข้อ 26 ในกรณีที่นายจ้างนำต้นกำเนิดรังสีเข้ามาในสถานประกอบกิจการก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้นายจ้างแจ้งประเภทต้นกำเนิดรังสี ปริมาณรังสี และสถานประกอบกิจการซึ่งต้นกำเนิดรังสีนั้นตั้งอยู่ รวมทั้งแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการแจ้งการครอบครอง หรือใช้ตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

.

ให้ไว้ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เล่ม 138 ตอนที่ 81 ก ราชกิจจานุเบกษา 3 ธันวาคม 2564

.

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 บัญญัติให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง และเพื่อให้การทำงานเกี่ยวกับรังสีมีมาตรฐานอันจะทำให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้


โหลดไฟล์

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการทำงานเกี่ยวกับรังสี พ.ศ. ๒๕๖๔