ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติม


ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง การฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ
เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติม

————————-

โดยที่กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ข้อ 23 กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ได้รับการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติม ปีละไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมงตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 23 แห่งกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 นายจ้างต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ได้รับการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติมปีละไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมงตามหลักสูตรแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 3 เมื่อได้ดำเนินการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ตามข้อ 2 แล้วเสร็จ ให้นายจ้างแจ้งผลการดำเนินการด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ที่นายจ้างมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

.

ประกาศ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565
นิยม สองแก้ว
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เล่ม 139 ตอนพิเศษ 254 ง ราชกิจจานุเบกษา 26 ตุลาคม 2565

.

.

หลักสูตรการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานที่อธิบดีประกาศกำหนด

1. การฝึกอบรม

1.1 ด้านกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน เช่น พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น

1.2 ด้านวิชาการเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การระบายอากาศในงานอุตสาหกรรม การควบคุมมลพิษทางอากาศ การจัดการกากของเสียในงานอุตสาหกรรม การตรวจวัด และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงาน การตรวจวัดและวิเคราะห์ความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศ การประเมินความเสี่ยง การสอบสวนและวิเคราะห์อุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงาน ระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย กระบวนการผลิตการศึกษาดูงานหรือการสัมมนาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นต้น

1.3 ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น กิจกรรม 5ส เทคนิคการเป็นวิทยากร การสอนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน เทคโนโลยีสะอาด สภาวะโลกร้อน การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในงานขนส่ง อันตรายจากฝุ่นระเบิด เป็นต้น

2. การพัฒนาความรู้

2.1 การเข้าร่วมการประชุมหรือการสัมมนาวิชาการ เช่น งาน Thailand Labour Management Excellence Award งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ เป็นต้น

2.2 การนำเสนอผลงานทางวิชาการ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่จัดโดยสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานอื่น

2.3 การศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หมายเหตุ     การนับจำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

1. การฝึกอบรมตามข้อ 1 ให้นับจำนวนชั่วโมงตามกำหนดการของหลักสูตรและต้องเข้ารับอบรมจริง

2. การพัฒนาความรู้ตามข้อ 2 ให้นับชั่วโมงตามระยะเวลาที่เข้าร่วมการประชุมหรือการสัมมนาวิชาการ การนำเสนอผลงานทางวิชาการ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หรือการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศจริง เช่น การศึกษาดูงานให้นับจำนวนชั่วโมงเฉพาะที่มีการศึกษาดูงาน



โหลดไฟล์

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติม