SafetyTalkTips – เทคนิค 4 ข้อช่วยให้ Safety Talk น่าสนใจขึ้น


Safety Talk

Safety Talk ผมว่าพวกเราทำกันเยอะครับ ทำกันทุกวัน ทำทุกกะ มีคนชำนาญกว่าผมเยอะแยะ แต่บางทีคนเรามันก็มีช่วงที่รู้สึกตื้อ ๆ ตัน ๆ บ้าง เบื่อบ้าง (แต่ก็ต้องทำน่ะ) ทำซ้ำๆ เดิม ๆ..


เริ่มที่การพูด 5-10 นาที แล้วพาออกกำลังกาย ถ่ายรูป แยกย้ายทำงาน…จบปิ้ง..แบบนี้หรือเปล่า


Safety Talk, Toolbox Talk, Morning Talk, KYT หรือ อะไรท้อค ๆ ที่เอาคนมารวม ๆ กัน แล้วพูดคุยเรื่องความปลอดภัยน่ะครับ..คือสิ่งที่อยากเล่า..


การเอาคน มารวมตัวกันเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราต้องมีวัตถุประสงค์ อันนี้ประเด็นครับ เพราะส่วนใหญ่ทำก่อนเริ่มงาน ต้องใช้เวลา ต้องกระชับ เพราะทุกคนก็มีงานไปทำต่อ
สรุปก็คือ เราต้องชัดว่าเรียกมาวันนี้ เช้านี้ เพื่อบอกอะไร แล้วเขาจะได้อะไรหลัง สะบัดตูดหนีเข้าหน้างานไป…
การทำ Safety Talk ก่อนเริ่มงาน มันดีมาก ๆ ครับ
ได้เตรียมพร้อมหลาย ๆ อย่าง ได้เช็คคน ดูอุปกรณ์ PPE ดูอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือ แฮ้งค์🙄

และ วัตถุประสงค์สำคัญที่เราทราบกันก็คือ ได้เน้นย้ำ บอก เตือน พูดคุยความปลอดภัย End result ผลลัพธ์คือ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานนั่นเอง

แต่สังเกตไหมว่า..


มีหลายครั้ง ที่เพื่อนพนักงานเราหรือผู้รับเหมา แค่มายืนฟังเฉย ๆ จป. เซฟตี้ พูดอะไรว้าา พูดเรื่องเดิมอีกแล้ว PPE, ทำตามกฎนะ บลา บลา บลา และบางทีคนฟังก็เลยเบื้อเบื่อ เป็นเรื่องยากที่จะให้เขาอยากเข้ามาร่วม (ถ้าไม่บังคับ)

……..
นิตยสาร Safety & Health ฉบับมิถุนายน 2015 มีเคล็ดลับหรือข้อแนะนำในการทำ Safety Talk ให้น่าสนใจขึ้น..ซึ่งผมขอสรุปใจความมาเล่าสั้น ๆ


📌📌เทคนิค 4 ข้อช่วยให้ Safety Talk ของเราน่าสนใจขึ้น📌📌


1. กระตือรือร้น
ในฐานะคุณเป็นผู้นำ เป็น จป. ที่คนมาฟังคุณพูดเรื่องความปลอดภัย ลักษณะ ท่าทาง ความมุ่งมั่น สีหน้า แววตา หรือรวมเรียก ภาษากาย
ต้องดูมั่นใจ และตั้งใจ กระตือรือร้น แต่ไม่ลนลาน
เพราะคุณคือ คนสำคัญของงานนี้ เป็นพระเอก
จะเดิน ยืน ท่าทาง สีหน้า แววตา ผู้คนจะรับรู้อารมณ์ของคุณได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยังไง ต้องมีพลังตลอด แม้จะต้องฝืนเท่าใดก็ตาม สิ่งที่จะช่วยตรงนี้ได้คือ เตรียมหัวข้อ เนื้อหา ทำการบ้านมาให้ดี ฝึกพูดให้เป็นธรรมชาติ ลื่นไหล สามารถเน้น ได้ตรงจุด และที่สำคัญ..รักษาเวลาด้วย


2. เลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
ดูซิว่า หัวข้อที่เราเลือกมา สำหรับทำ Safety Talk มันเกี่ยวกับคนฟังไหม ได้ประโยชน์ไหม มีอะไรใหม่กว่าเมื่อวานหรือเปล่า มีมุมมองที่สำคัญอะไรบ้าง
อาจจะไม่ใช่ในไซต์งานหรือบริษัทเราก็ได้ เช่น อุบัติเหตุล่าสุดหรือความผิดพลาดของที่อื่น แล้วสามารถหยิบมาเป็นบทเรียนให้กับหน้างานของเรา
การเลือกหัวข้อที่มันเกี่ยวกับคนฟัง จะทำให้เขาสนใจฟังคุณมากขึ้น
แม้แต่เรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน หนัง ละคร หวย ก็สามารถหยิบมาแทรกได้พอสมควร (อย่าเยอะ) เพื่อสร้างความเป็นกันเองระหว่างทำกิจกรรม..

อย่าลืมเลือกใช้ภาษาคนงาน เลี่ยงภาษานักวิชาการให้มากที่สุด

safety stand down
safety stand down (เครดิต experttalk.creativesafetysupply.com)


3. พูดเชิงบวกบ้าง
อย่าให้ Safety Talk คือ ความน่าเบื่อ หรือ ต้องโดนบังคับแหกขี้ตามาร่วม
อาจจะเริ่มที่พูดบอก ขอบคุณด้วยความเต็มใจ ที่มาร่วมกิจกรรม ชื่นชมเขา เมื่อพบว่า เขาแต่งตัวเรียบร้อย (ไม่เรียบร้อย-ก็ว่า พอตอนเรียบร้อย-เงียบ) หรือ อะไรก็ได้ที่ทำให้คนเห็นว่าเราตั้งใจจริง ๆ

นอกจากนี้ อาจจะมีบางครั้งที่มีของหรือรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับแจกคนที่เข้าร่วม ไม่จำเป็นต้องมีมูลค่าเยอะ ถามตอบ มอบในโอกาสอะไร ก็คิดกันมา
มันแสดงถึงความชื่นชม ยินดี และ เห็นพวกเขาในสายตา…อย่าลืมสุดท้าย ขอบคุณที่ทุกคนร่วมมือกันทำงานความปลอดภัย


4. ทำให้ง่าย
บางบริษัท ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพูดความปลอดภัยต่อหน้าผู้คน การสร้างให้คนมี Safety Leadership เป็นสิ่งที่ต่างประเทศนิยมทำมาก แต่บ้านเรา บางทีคนไทยเราก็อาจพูดไม่เก่ง ประหม่า เขิน ก็ว่าไป
ถามว่าดีไหม ดีครับมีส่วนร่วม ได้ทีมงาน ได้มุมมองใหม่ ๆ แต่อย่าลืม คนอื่นละ คิวต่อไป เขาอาจไม่อยากทำก็ได้ครับ (พูดหน้าเวที)

ดังนั้น แนวทางที่น่าจะทำได้ ก็เช่น เพิ่มความหลากหลายของการนำเสนอโดยการเขียนใส่กระดาษ หรือ ฝากผ่านหัวหน้า หรือ บอกตัวต่อตัวก็ได้
แล้วก็ใช้หัวข้อที่เขาเสนอ หรือ อยากจะพูด นำไปขยายต่อให้ทุกคนฟัง ก็ได้..อย่าลืม ให้เครดิตคนที่เขาเสนอเรื่องด้วยครับ


อยากให้ Safety Talk ได้ประโยชน์จริง ๆ และทำให้น่าสนใจขึ้นกว่าเดิม ลองนำไปปรับใช้ดูครับ ไม่มีผิดไม่มีถูกครับ มีอะไรมาเล่ามาแชร์กัน
ขอบคุณครับ

————–
ภาพ pixabay