5 ประเด็นที่ต้องรู้ ก่อนการเลือกซื้อชุดสะท้อนแสง (HVSA)


เมื่อเราพูดถึงชุดที่เพิ่มความสามารถในการมองเห็น High-Visibility Safety Apparel (HVSA) ส่วนใหญ่บ้านเราจะเข้าใจว่าเป็น ชุดหรือเสื้อสะท้อนแสง (Safety Vest) เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่ผิดครับ แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมดตามมาตรฐานเสียทีเดียว เพราะมันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย


วันนี้ผมหยิบเรื่องนี้มาเล่าครับ..

ตามมาตรฐาน ANSI นั้น ชุด High-Visibility Safety Apparel (HVSA) คือ ชุดแต่งกายเพื่อให้คนสวมใส่นั้นปลอดภัยโดยช่วยให้เรามองเห็นคนที่กำลังปฏิบัติงานได้ดีขึ้นกว่าการมองด้วยสายตาปกติ
โดยตามนิยาม คือ เสื้อผ้าหรือชุดที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงสูง สามารถมองเห็นได้ชัด และตัดกับพื้นหลัง (background) และในสภาพแสงใด ๆ แม้ในเวลากลางคืน
ความสามารถที่ทำให้คนอื่นมองเห็น (visibility) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความปลอดภัยของคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายยานพาหนะและอุปกรณ์ ในงานก่อสร้าง ไปจนถึงงานถนน และคลังสินค้า เป็นต้น
แต่ก็ไม่ใช่ชุด HVSA ทุกชนิดจะทำให้มองเห็นได้ดีเหมือนกันหมดครับ ก็แตกต่างกันในแง่การใช้งาน และสภาพแวดล้อมที่คนงานต้องปฏิบัติทุกวันด้วย

และนี่คือ 5 ประเด็น ที่เราต้องรู้ เพื่อใช้ในการพิจารณาเลือกชุด HVSA ให้เหมาะสมกับการทำงานหน้างานจริงครับ

  1. WHO ใครต้องใส่ชุด HVSA นี้
    พนักงานของเรา..จำเป็นต้องสวมชุด HVSA เพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บและอุบัติเหตุในการทำงานหรือไม่? นั่นคือ เขาทำงานอะไรอยู่ งานถนนหรือทางหลวง ทางรถไฟ งานในสนามบิน คนตัดไม้ งานประมง งานก่อสร้าง งานเก็บขยะ งานภาคสนาม งานคลังสินค้า งานกู้ชีพกู้ภัย และอื่น ๆ อีกหลากหลาย..เราต้องตอบให้ได้ ว่าใครทำอะไร และเสี่ยงอะไร..
    หลังจากนั้นประเด็นสำคัญตรงนี้คือ เลือกชุด HVSA ที่มองเห็นได้ง่ายและคมชัดมากที่สุด ระหว่างตัวของผู้ทำงานและสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา
    อีกประเด็นคือ สีของอุปกรณ์ หรือสภาพในบริเวณที่ทำงาน ก็ส่งผลต่อการเลือกใช้วัสดุทำชุดหรือพื้นหลังของแถบเรืองแสงได้
  2. WHEN เมื่อไหร่ที่ต้องสวมชุด HVSA?
    กฎหมายในบ้านเราอาจไม่ได้กำหนดแน่ชัดว่า งานแบบไหนที่ต้องมีชุด HVSA เหมือนบางประเทศที่มีระบุไว้เลย แต่จะดูจากลักษณะงานและความเสี่ยงเป็นหลัก ที่เราพบได้บ่อยคือ งานก่อสร้าง งานถนน/ทางหลวง งานคลังสินค้า หรือ สนามบิน เนื่องจากต้องอยู่ใกล้กับเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่เคลื่อนที่ได้
    เมื่อคนงานต้องออกไปทำงานนั้นๆ เราก็จะกำหนดให้ใส่ชุด HVSA
    ส่วนคนที่ทำงานอื่น ๆ เช่น คนเก็บขยะ งานสนาม งานประมง หรืองานอื่น ๆ นายจ้างหรือผู้จัดการด้านความปลอดภัย ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความปลอดภัยของคนงานนั้น ๆ..
  3. WHAT อะไรคือพื้นฐานของการออกแบบชุด HVSA?
    ส่วนประกอบทั่วไปของชุด (เสื้อ/ผ้า) ได้แก่ :
    – สีพื้นหลังของชุด HVSA คือ สีเขียว สีส้มและสีแดง ต้องมีวัสดุเรืองแสงที่ใช้เม็ดสีพิเศษที่สว่างกว่าสีอื่น ๆ และเพิ่มการมองเห็นในเวลากลางวัน โดยเฉพาะในที่มีแสงน้อย เช่น มีเมฆ ฟ้าครึ้ม ตอนเย็นหรือค่ำ
    – แถบสะท้อนแสง (Retroreflective) ต้องสะท้อนแสงไปในทิศทางของแหล่งกำเนิดแสง
    – ปัจจจุบันมีวัสดุที่มีสมรรถนะดี รวมเอาคุณสมบัติของแถบสะท้อนแสง และมีเม็ดสีพิเศษที่มองเห็นได้ชัดด้วย
  4. WHAT ประเภทของวัสดุมีอะไรบ้าง และเลือกอย่างไร?
    เมื่อพูดถึงชุด HVSA ก็มีหลายแบบและก็เป็นเรื่องยุ่งยากในการเลือกให้เหมาะสมกับงาน ปกติทั่วไปเราใช้มาตรฐาน ANSI / ISEA 107-2015 ในการอ้างอิง ซึ่งมาตรฐานนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติวัสดุที่ทำชุด แถบสะท้อนแสง รวมถึงระดับความสว่าง และคำแนะนำสำหรับการใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานประเภทต่าง ๆ ไว้คร่าว ๆ ดังนี้
    แบ่งเป็น 4 Class (Class 1, 2, 3 และ E) และ 3 ประเภทของวัสดุ (Type O, P และ R)

Class 1

  • จะใช้ในงานที่มีความแตกต่างของผู้ปฏิบัติงานกับสภาพแวดล้อมที่มี background ไม่ซับซ้อนมาก
  • เครื่องจักรหรือยานพาหนะวิ่งไม่เกิน 25 mph
  • มีพื้นที่ระหว่างคนกับเครื่องจักรพอสมคร
    เช่น งานในคลังสินค้า งานส่งสินค้า หรือ ในชั้นวางสินค้าของห้าง เป็นต้น

Class 2

  • ทำงานในที่มีรถวิ่ง 25-50 mph หรือ มีแผงกั้นระหว่างคนทำงานกับรถวิ่ง
  • ทำงานในที่มี background ซับซ้อน
  • สภาพอากาศเลวร้าย และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
    เช่น คนกั้นทางข้ามโรงเรียน คนทำงานในสนามบิน / โหลดกระเป๋า

Class 3

  • ทำงานใกล้กับที่มีรถวิ่ง 50 mph ขึ้นไป
  • ไม่มีแผงกั้นระหว่างทำงานถนน
  • มี background ซับซ้อน
  • สามารถมองเห็นได้ในระยะ 1/4 ไมล์
    เช่น งานก่อสร้างถนน / ซ่อมบำรุงทางหลวง คนโบกธง ตำรวจจราจร นักสำรวจ หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ทำงานในที่แสงน้อยหรือที่อันตรายมากๆ

    ส่วน Class E หมายถึง กางเกงหรือชุดหมี เมื่อสวมใส่ร่วมกับเสื้อหรือเสื้อกั๊ก ในชุดที่เป็นแบบ Class 2 หรือ Class 3 ซึ่งเมื่อใส่รวมกันแล้ว ชุดทั้งหมดจะถูกจัดอยู่ใน Class 2 หรือ Class 3

นอกจากนี้ ANSI ยังกำหนดประเภทของวัสดุทำชุด (เนื้อผ้า) ไว้ 3 ประเภท (type) คือ
Type O – Off-road สำหรับใช้ในสภาพแวดล้อมนอกถนน หรือ ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้,
Type R – Road สำหรับงานถนนและจราจร,
Type P – Public Safety activity สำหรับงานความปลอดภัยในที่สาธารณะ

เมื่อรู้มาตรฐาน เราก็มีแนวทางในการเลือกชุดให้เหมาะกับงานเราแล้วครับ..

  1. HOW คนงานจะได้ประโยชน์จากชุด HVSA อย่างไร?
    เพื่อให้คนงานได้ประโยชน์สูงสุด การเลือกชุด HVSA ที่เหมาะสมกับงานตามมาตรฐาน ANSI เป็นขั้นตอนเริ่มแรกในการป้องกันการบาดเจ็บในที่ทำงาน แต่ผู้ทำงานก็ต้องดูแลชุดด้วย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการสวมใส่นั่นเอง..
    กรณีมีเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานเข้ามาเกี่ยวด้วย เช่น มีหิมะตก ฝนตก ความร้อน กลางคืน ก็ต้องนำมาเป็นปัจจัยในการเลือกชุดเพื่อใช้งานด้วย เช่น แบบแจ๊กเก็ตและเสื้อแขนสั้น สำหรับทำงานในที่มีอากาศร้อน เสื้อแขนยาวในสภาพอากาศที่หนาวเย็น และเสื้อกันฝนป้องกันฝนตกและความเย็นได้ เป็นต้น
    คุณสมบัติอื่น ๆ ของชุด ที่อาจเพิ่มเติมได้ ตามความจำเป็นของคนอยู่หน้างาน เช่น
  • ความสามารถในการระบายอากาศ
  • สายรัดปรับได้
  • เว้นช่องให้ D-ring สำหรับเชื่อมต่อกับสายรัดเพื่อป้องกันการตก
  • แบบซิป หรือ แบบตีนตุ๊กแก
  • มีกระเป๋าใส่ของ
  • มีช่องเสียบไมค์ หรือ วิทยุบนไหล่
  • ช่องใส่ปากกา หรือ สมุดโน้ตเล็กๆ
    สิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึง คือ อายุการใช้งาน ข้อแนะนำในการพิจารณา เช่น
  • ไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะ 1,000 ฟุต ทั้งกลางวันหรือกลางคืน
  • ใช้งานมาเกิน 1 ปีแล้ว
  • แถบสะท้อนแสงซีด หรือเสื้อสีเริ่มตก เป็นต้น

หลายประเทศก็มีการออกมาตรฐานของชุด HVSA ของตัวเองออกมา อย่างไรก็ตามถ้าใครยังไม่แน่ใจ ก่อนซื้อชุดหรือเสื้อสะท้อนแสง สามารถนำ 5 ข้อนี้ไปเป็นแนวทางพิจารณาเบื้องต้นได้ครับ
เพื่อเป็นประโยชน์ครับ

ข้อมูล :
https://ohsonline.com
https://www.arcwear.com