ที่พักคนงานก่อสร้าง


ที่พักคนงาน คุณภาพชีวิต และการบังคับใช้กฎหมาย

————————————-

ผมอยากใช้พื้นที่นี้เล่าถึงผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องไปพักอาศัย กินอยู่หลับนอน ในที่พักหรือแค้มป์คนงาน โดยเฉพาะไซต์งานก่อสร้าง ทั้งขนาดเล็กและใหญ่


ใน Construction Site ที่เป็นโครงการใหญ่ ในการตั้งที่พักคนงานนั้น ส่วนใหญ่บริษัทเจ้าของงาน (Project Owner) หรือผู้ว่าจ้าง จะพิจารณากำหนดจุดที่ตั้งให้ หรือหากอยากเปลี่ยนแปลง ผู้รับเหมา ก็นำเสนอได้


เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น Camp Layout ประกอบกับ Land use permission (ขอใช้พื้นที่) ซึ่งจะสาสารถกำหนดได้ว่า เราจะใช้พื้นที่ไปทำอะไรบ้าง เช่น ที่พัก วางเครื่องจักร เก็บกองวัสดุ ออฟฟิศสนาม บ่อขยะ เป็นต้น


เมื่อผ่านการพิจารณาเบื้องต้น ก็ต้องให้ทำการขออนุญาตสร้างตาม Method statement เงื่อนไขและข้อกำหนดทั้งหมด ที่รวมเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภคต่างๆ การรักษาความปลอดภัยและความเป็นอยู่ เป็นต้น


ตรงนี้..ในมุมของการจัดการ เราจะสามารถระบุกิจกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ และใช้เป็นข้อมูลในการทำ HIRA ก่อนได้เป็นอย่างดี (Hazard identification and risk assessment)



ตัดภาพมาที่ที่พักของคนงานก่อสร้างขนาดเล็กๆ ที่เราเห็นกันทั่วไป เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโด หรือตามสถานที่ต่างๆ ทั้งเอกชนและของรัฐ เป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะทำอย่างนั้นได้ ทั้งระยะเวลาก่อสร้างที่เร่งรัด ไซต์งานมีที่ทางจำกัด หรือแม้กระทั่ง ประหยัดงบ..


บางครั้ง เจ้าของงานเอง ไม่ได้คิดวางแผนเผื่อเรื่องนี้ให้คนรับเหมางานเลย..ต้องรับสภาพและจัดการปัญหาเอาเองก็มี

สภาพที่พักคนงาน จึงอาจไม่ถูกต้อง ถูกสุขลักษณะ หรือปลอดภัยครบถ้วนทั้งหมดนัก ความเสี่ยงด้านต่างๆ จึงไม่ได้รับการป้องกันแก้ไข


แต่หากจะถามว่า คนงานที่อาศัยอยู่เอง เขาซีเรียสมากหรือไม่ ก็อาจไม่ใช่ทุกคน…บางคนขอแค่มีงานทำ มีคนจ้าง มีที่พักให้ฟรี แค่นี้อยู่ก็ได้เพราะในชีวิตจริงเคยใช้ชีวิตลำบากมากกว่านี้ ก็เป็นได้

..แต่ถ้าเราให้สิ่งที่ดีกว่า..เป็นใครก็คงไม่ปฏิเสธ..

ไฟไหม้แค้มป์คนงานแห่งหนึ่งย่านรังสิต ปี 2558 (ที่มา posttoday)



จากประสบการณ์ไซต์ก่อสร้างที่ผมเคยเจอแห่งหนึ่ง.. คิดว่า น่าจะเป็นแค้มป์ที่พักที่มีสภาพเลวร้ายสุดๆ แห่งหนึ่ง


ลักษณะก็คือ..ใช้ไม้กระดานทำผนัง มีเตียงสองชั้นต่อเป็นแนวเรียงกันเต็มสองฝั่งแทบจะเดินไม่ได้ สภาพแออัด หลังคารั่วไม่คุ้มฟ้าคุ้มฝน สุขอนามัย ห้องน้ำแบบนั่งยองๆ เรียงกันและไม่มีน้ำราด ขยะจะทิ้งตรงไหนก็ทิ้ง แถมเวลาทำกับข้าว ก็ที่พื้นนั่นละ…


ในเรื่อง Safety and Security


คนงานบางคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แล้วมาแอบในที่พัก เป็นแรงงานเถื่อน โดยให้เหตุผลว่า มารอทำงานหากมีใครขาดลามาสายก็เข้าทำแทน งานไม่สะดุด (เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Labour storage) ใครจะเข้าจะออกเขตที่พักก็ไม่มีการตรวจ กวดขัน สภาพสายไฟระโยงระยาง ต่อพ่วงไม่รู้กี่ทอด เล่นไพ่ไฮโล เสพยา ดื่มเหล้า เสียงดังโวยวาย ชกต่อย แทงกันไส้ทะลัก หรือ นอนตายคาแค้มป์ก็มี…

เรียกได้ว่า จะไปบอกให้เขาแก้ไข จะต้องใช้กำลังตำรวจและทหารเข้าไปด้วย ยังกับบุกยึดหัวหาดในสงคราม..สุดยอดจริงๆ..


………..


ในปี 2559 บ้านเรามีประกาศคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เรื่อง ที่พักอาศัยของลูกจ้างที่ทำงานก่อสร้าง ซึ่งเนื้อหานั้นจะเป็นการให้ข้อแนะนำในการจัดที่พักอาศัยของคนงานก่อสร้าง (คนงานประเภทอื่นยังไม่เห็น)


สาระสำคัญ เช่น
– กำหนดขนาดที่พัก จำนวนคน/พื้นที่
– ห้องน้ำ
– การจัดการขยะ
– ความปลอดภัยด้านต่าง ๆ
– การควบคุมดูแลด้านรักษาความปลอดภัย

เป็นต้น


แต่ชีวิตจริง ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้ หรือไม่มีการตรวจสอบจากราชการอย่างจริงจังมากนัก


อย่างไรก็ตาม เราทำงาน Safety หรือเป็นโฟร์แมน คนคุมงาน เราก็เป็นลูกจ้างเหมือนกัน สิ่งไหนที่พอจะดูแลและผลักดันให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่พักนั้นดีขึ้น ก็อยากให้ทุกท่านช่วยพิจารณาครับ ว่าเราทำอะไรได้บ้าง


ที่พักคนงาน ย่อมสะท้อนภาพของคุณภาพชีวิตคนทำงาน ซึ่งส่งผลทางอ้อมกับ ประสิทธิภาพการทำงาน และ ความปลอดภัยได้ด้วย
และอีกมุมหนึ่ง..ก็สะท้อนการมาตรฐานด้านแรงงานและการเข้มงวดกวดขันของภาครัฐอย่างเด่นชัดด้วยครับ


ขอบคุณครับ 
บทความโดย : โอ พิพัฒพล

——————–


อ้างอิง : มาตรฐานด้านสวัสดิการแรงงานที่พักอาศัยสำหรับลูกจ้างประเภทกิจการก่อสร้าง