ทำไม.. เราต้องประเมินอันตรายและความเสี่ยง


ทำไม..
เราต้องประเมินอันตรายและความเสี่ยง

เป็นที่ทราบกันดีว่า..การดำเนินงานด้านความปลอดภัยของบ้านเรานั้น มี พ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ ปี 2554 เป็นหนึ่งในกฎหมายหลักที่เราใช้กัน

ในส่วนของนายจ้าง..
เขียนไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 8..

“ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง”

แปลตรง ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ..
กฎกระทรวง (ที่ออกตาม ม. 8 นี้) บอกให้ทำอะไร..เราก็ต้องทำ

ดังนั้น..นายจ้างจึงต้องหยิบเอาเรื่อง ความปลอดภัยในการทำงาน ไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจด้วย..

คำถามต่อไปคือ…
แล้วทำยังไงล่ะ..ถึงจะ บริหาร จัดการ และ ดำเนินการ (administer, manage and operate) เรื่องความปลอดภัยได้ตามกฎกระทรวง..

ไม่เคยทำ ทำไม่เป็น..
หรือ กลัวทำไม่ครบ
โอ้ยยยไม่มันทำแล้ว (โว้ยยยย ^_^)

พ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ นี้ก็เลยให้แนวทางและกำหนดเครื่องมือ (tools) ในการทำไว้รอเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ใน มาตรา 32..

“เพื่อประโยชน์ในการควบคุม กำกับ ดูแลการดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้นายจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) #จัดให้มีการประเมินอันตราย
(2) #ศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้าง
(3) #จัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและจัดทำแผนการควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ
(4) ส่งผลการประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบ แผนการดำเนินงานและแผนการควบคุมตาม (1) (2) และ (3) ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

สรุปง่าย ๆ คือ..
ให้เรา ประเมินอันตรายและความเสี่ยง และไปจัดทำแผนงาน ควบคุม กำจัด ลดอันตรายและความเสี่ยงนั่นเอง..(HIRA, Hazard Identification and Risk Assessment)

พอเราเริ่มประเมิน…
เราจะรู้ว่าเสี่ยงอะไร อันตรายอะไร ระดับสูงหรือต่ำ
เกี่ยวกับมาตรฐาน/กฎหมาย ฉบับไหน ข้อไหน
เป็นต้น…ทีนี้ก็ไปทำแผนจัดการมันซะ..

บริษัทไหนทำระบบ ISO อยู่..
สบายเลยใช่ไหมครับ

ผมดึงเอาประเด็นนี้มาแชร์ เพราะเห็นว่า นายจ้างบางบริษัท บางองค์กร หรือ จป. เราบางท่าน อาจไม่ได้ทำตรงนี้ ส่วนหนึ่งอาจเข้าใจว่า บริษัทต้องทำระบบ ISO เท่านั้น จึงจะเริ่มทำ HIRA
.

ซึ่งจริง ๆ แล้ว..กฎหมายต่างหาก
ที่บังคับให้เราต้องทำครับ

—–

กระบวนการนี้ มุ่งหวังให้ทุกคนในองค์กร ได้เล็งเห็นปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ซึ่งเราจำเป็นต้องทราบความเสี่ยงและอันตรายที่แท้จริง เพื่อกำหนดแผนกำจัด ควบคุมหรือลดความเสี่ยงให้เพียงพอ

รวมไปถึง..ความร่วมมือของนายจ้างและลูกจ้างเอง ที่จะมีแนวทางบริหารจัดการความปลอดภัยขององค์กรได้อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับกฎหมายอีกด้วย


ขอบคุณครับ
โอ พิพัฒพล
30/11/2562

———
อ้างอิง
พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554