เปิด Timeline ความปลอดภัยในแต่ละยุค


บทความโดย.. โอ พิพัฒพล

สรุป – สำหรับผู้ไม่มีเวลาอ่าน

ยุคปฏิวัติ (Revolution) 2515 – 2527
ยุคทอง (Golden age) 2528 – 2540
ยุคขับเคลื่อนและบูรณาการ (Integration) 2541 – 2554
ยุคปัจจุบัน (Digital & Big data) 2554 – ปัจจุบัน


ผมไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้
งานความปลอดภัยบ้านเราเป็นยังไง อยู่กันอย่างไร…
ผมจึงขอเขียน timeline เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของบ้านเราตามพัฒนาการของกฎหมาย ตามที่ผมเข้าใจนะครับ แบ่งเป็น 4 ยุค….คือ

ยุคปฏิวัติ (Revolution)
ยุคทอง (Golden age)
ยุคขับเคลื่อนและบูรณาการ (Integration)
ยุคปัจจุบัน (Digital & Big data)



ยุคปฏิวัติความปลอดภัย (Revolution)

พ.ศ. 2515 – 2527

ขอเริ่มที่..พ.ศ. 2515

ในช่วงที่ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ (โดยทำรัฐประหารตัวเอง) และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในยุคนี้ก็ว่าได้ ที่มีประกาศกฎหมายคุ้มครองแรงงานรวมถึง คุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยอย่างชัดเจน (ไม่พูดถึงเรื่องอื่นนะครับ)

นั่นคือ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งมีสถานะเทียบเท่า…พระราชบัญญัติ

และนี่คือ ต้นกำเนิดและที่มาของกฎหมายด้านแรงงาน และความปลอดภัยมากมาย ถ้าเป็นหนังแนว Series ก็คงมีหลาย Episode ให้ดูกันจนตาเปียกตาแฉะ ไม่แพ้ Game of Thrones หรือ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน 😁😁

สาระสำคัญในประกาศนี้คือ

📌 การกําหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงานใหม่ เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
📌 กําหนดการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง และให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสม เช่น การใช้แรงงาน หญิง เด็ก อัตราค่าจ้าง ค่าชดเชย การจ่ายเงินทดแทน กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย ตาย เนื่องจากการทำาน เป็นต้น
📌 เป็นต้นกำเนิดขึ้นของ..กองทุนเงินทดแทน (ดูแลโดย สำนักกองทุนเงินทดแทน ที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย) เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างว่าจะได้รับเงินทดแทน หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางาน

และ…

กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ — สวัสดิการ สุขภาพ และความปลอดภัย ของลูกจ้าง จะอาศัยความในข้อ 2 (7) ทั้งนั้น
.
.
ข้อ 2 ให้กระทรวงมหาดไทย มีอํานาจกําหนดการคุ้มครองแรงงาน ดังต่อไปนี้
(7) สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยสําหรับลูกจ้าง

ดังนั้น

กฎหมายด้านความปลอดภัย..ในยุคแรก
จึงไปอยู่ในอ้อมกอดเขมราฐ..เอ้ย..กระทรวงมหาดไทย
(กรมแรงงานในขณะนั้น..สังกัดกระทรวงมหาดไทย)

ปี 2519

ประกาศด้านความปลอดภัย..ฉบับแรก ที่อาศัยข้อ 2(7) ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับ 103 ก็คลอดออกมาลืมตาดูโลก

นั่นคือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง (29 มิถุนายน 2519)

สิงหาคม 2519
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
พฤศจิกายน 2519
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม

ปี 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี)

ปี 2522

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า

ปี 2523

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (ประดาน้ำ)

ปี 2524

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยลิฟท์ขนส่งวัสดุชั่วคราว

ปี 2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ว่าด้วยการนั่งร้าน


ยุคทอง (Golden age)

พ.ศ. 2528 – 2540

ผมมองว่ายุคนี้เป็นยุคทองของงานความปลอดภัยบ้านเราเลย เพราะเริ่มมีกฎหมายเยอะขึ้น มีสถาบันที่เริ่มเปิดสอนสาขานี้ รวมทั้งมี พ.ร.บ. สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับแรงงานและความปลอดภัยเกิดขึ้น

ปี 2528

พฤษภาคม 2528
กำเนิด…จป. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง

ข้อ 6 ให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป..
มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) อย่างน้อย 1 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ 6 ข้อ (ตามประกาศนี้) ตลอดเวลาที่มีการทำงาน และให้มีผลหลังประกาศ 180 วัน นั่นคือ 12 พฤศจิกายน 2528

กันยายน 2528

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยเขตก่อสร้าง (ทำรั้วหรือคอกกั้นแสดงเขตก่อสร้างและเขตอันตราย)

12 พฤศจิกายน 2528
หลังประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง มีผลบังคับใช้
วันนี้จึงเป็นวัน…กำเนิด จป. ของไทย อย่างเป็นทางการ

ธันวาคม 2528
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจาก ส่วนราชการ องค์กรของรัฐและเอกชน และมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเลขานุการ


ปี 2529
กำเนิด…งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งแรก

(วันที่ 1 – 3 มิถุนายน)

ปี 2530

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น

ปี 2532

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับการตอกเสาเข็ม

ปี 2533

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่อับอากาศ


กำเนิด… พระราชบัญญัติประกันสังคม 2533
ซึ่งยกเลิก พ.ร.บ. เดิม ที่มีมาตั้งแต่ปี 2497

โอ้มายยยก้ออออดดดด.

ปี 2534

กันยายน 2534
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

พฤศจิกายน 2534

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับหม้อน้ำ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูง วัสดุกระเด็น ตกหล่น และการพังทลาย

ธันวาคม 2534

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง

ส่วนประกาศเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานสุขภาพอนามัย ตั้งแต่ปี 2515 – 2536 มีดังนี้

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 1 – 14)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล (ฉบับที่ 1 – 4)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้าง (16 เมษายน 2515)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดงานที่นายจ้างรับเด็กซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบสองปีแต่ยังไม่ถึงสิบห้าปีเป็นลูกจ้างได้ (16 เมษายน 2515)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยสำหรับลูกจ้าง (16 เมษายน 2515)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (16 เมษายน 2515)

14 มีนาคม 2535

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ให้ยุบกรมแรงงาน — แล้วจัดตั้ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สังกัดกระทรวงมหาดไทย

25 กรกฎาคม 2536

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2536 — ตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม – แยกงานคุ้มครองแรงงาน ออกจากกระทรวงมหาดไทย และให้มีผลภายใน 60 วันหลังประกาศ

23 ก.ย. 2536
การกำเนิดขึ้นของ..กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ คนแรก คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ซึ่งอยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 4 เดือน (23 ก.ย. 36 – 7 ม.ค. 37)


ขอแทรก timeline ด้วยเหตุการณ์สำคัญ
ที่เป็นเหมือน ตัวเร่ง..ให้ประเทศไทยหันมาสนใจเรื่อง
ความปลอดภัยในการทำงาน..มากยิ่งขึ้น

24 กันยายน 2533
รถแก๊สพลิกคว่ำ – ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตาย 90 คน / บาดเจ็บ = 121 คน

10 พฤษภาคม 2536
เพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์อินดัสเตรียล – นครปฐม ตาย 188 / บาดเจ็บ 485
เป็นเหตุที่ทำให้คนตายในเหตุการณ์เดียวกัน สูงสุดอันดับ 1 ของโลกในขณะนั้น

11 กรกฎาคม 2536
เพลิงไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียนรีสอร์ทพัทยา – ชลบุรี ตาย 91 / บาดเจ็บ 53

13 สิงหาคม 2536
โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม ตาย 137 / บาดเจ็บ 227


2537
กำเนิด….พระราชบัญญัติเงินทดแทน 2537

2540
คณะรัฐมนตรีในยุุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย
ประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
(จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ 10 พฤษภาคม 2536)


25 ปีผ่านไป..ก็ทหาร ก็ยังปฏิวัติอยู่
เอ้ยยย…..ผิดเรื่อง ๆ 55555

เอาใหม่ๆๆ
25 ปีผ่านไป
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ก็ยังอยู่ยงคงกระพันให้ใช้อยู่
จนมาถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ..อีกครั้ง


ยุคขับเคลื่อนและบูรณาการ (Integration)

พ.ศ. 2541 – 2554

เหมือนเริ่มตั้งหลักได้ หลังจากผ่านไปหลายสินปี
ตอนนี้งานความปลอดภัย เริ่มเข้าไปยังสถานประกอบกิจการมากขึ้น
รวมถึงขยายไปยังหลากหลายธุรกิจ..

คนทำงานด้านความปลอดภัยในยุคนี้ ก็ได้เรียนรู้จากอดีตมากพอสมควร และกลายมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัย จากอดีต ส่งผ่านมาถึงยุคปัจจุบัน…


2541
กำเนิด… พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541
และการตาย..ของ ประกาศคณะปฏิวัติที่ 103

กล่าวคือ….

ใน มาตรา 3 ให้ยกเลิก

ประกาศคณะปฏิวัติที่ 103
พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะปฏิวัติที่ 103 ปี 2533
และกฎหมาย กฎ ประกาศอื่น ๆ ทีขัดแย้ง


ว่าง่าย ๆ คือ แม่มันตายแล้ว ลูกหลานมันก็ต้องตายด้วย
ออกแนวโหด 55555..

แล้วมันสำคัญยังไง…ใน พ.ร.บ. นี้
มาตรา 6 – ให้ รมต. กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (ชื่อตอนนั้น)

  • รักษาการ (พูดง่าย ๆ ดูแลรับผิดชอบ)
  • มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานตรวจแรงงาน
  • ออกกฎกระทรวง / ประกาศ (กฎหมายลูกต่าง ๆ)

มาตรา 103 – ให้ รมต. มีอำนาจออกกฎกระทรวง ที่ชื่อย้าวววววยาววว่า……
กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (เกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็ว่าไป…)


นี่คือจุดสังเกตเลยครับสำหรับคนอ่านกฎหมายด้านความปลอดภัย

  • สมัยปฏิวัติ ใช้ชื่อ..ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับ……
  • สมัยยุครุ่งเรือง ใช้ชื่อ..กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน….
  • และ ยังไม่หมด….ยังมียุคหลัง 2554 มีอีกชื่อนะ อิอิ…

ไปต่อ…..


2545
กำเนิด..กระทรวงแรงงาน
รมต.คนแรกคือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

(3 ต.ค. 45 – 2 พ.ย. 46)

2547
กำเนิดกฎกระทรวง..ด้านความปลอดภัย..ฉบับแรก..ที่ออกตามมาตรา 6 กับ มาตรา 103 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541 นั่นคือ กฎกระทรวงฯ ที่อับอากาศ 2547

กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน 2547

2548
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับงานประดาน้ำ 2548

2549
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง 2549
กฎกระทรวงฯ ปี 2549

2551
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับงานก่อสร้าง 2551

2552
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552

2553
กฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) ปี 2553


กำเนิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553

และ..2554
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับไฟฟ้า 2554


ยุคปัจจุบัน (Digital & Big data)

พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน

ผมว่ายุคนี้ งานความปลอดภัยเปลี่ยนไปเยอะมากจริง ๆ ด้วยข้อมูล ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เราต้องปรับตัวมาก ๆ เพื่อตามให้ทันอันตรายและความเสี่ยง ที่แปลกใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ

และโดยส่วนตัวมองว่า..หากเราไม่ปรับตัว หรือปรับตัวตามไม่ทัน…จะทำให้งานความปลอดภัยโดน disruption จนหยุดชะงักไปเลยทีเดียว

2554
กำเนิด…พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

กฎหมายความปลอดภัย ยุคปัจจุบัน จะออกมาได้โดยใช้ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และ

มาตรา 8 วรรคหนึ่ง
ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดในกฎกระทรวง

ถึงตอนนี้…..
กฎกระทรวง….ยุค 54 จะใช้ชื่อ…
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(ย้าวววววววยาววววว…อีกแล้ววว)

2556
เจิมด้วยกฎกระทรวงแรก..
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย 2555

(ออกปลายปี 55 – แต่ประกาศต้นปี 56)

กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556

2558
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558

2559
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559

2561
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

2562
กฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562


ยาวมากกกกกกกกกกกกกกกกก…พอก่อน

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้…
ผมหวังว่าทุกท่านคงได้เห็นว่า กว่าจะมาถึงวันนี้…
ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัท ห้างร้าน ผู้คนผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ นักขับเคลื่อนทางสังคม และอื่น ๆ มากมาย เขาได้ร่วมกันผลักดันและพัฒนางานความปลอดภัย..มาอย่างไร
เสียสละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ สติปัญญาความรู้..เพียงใด


หรือแม้กระทั่งสละชีวิต..อย่างมีเกียรติ..อย่างไร

ตอนนี้..เราอยู่ในยุคที่คนรุ่นหลัง..
รอจะตั้งคำถามพวกเรา เช่นกัน..
ว่าคนรุ่นเรา……เขาอยู่กันอย่างไร

เขียนมาถึงตรงนี้
ทำให้นึกถึงตอนจบของหนังเรื่อง The Last Samurai ตลอด

1 เจ้าอยู่กับเขา ตอนที่เขาตายรึ..
2 ใช่ขอรับ
.
.
1 เล่าให้ข้าฟังซิ..ว่าเขาตายยังไง
2 ข้าจะเล่าให้ฟังว่า..เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

และขอจบด้วย safety quote ที่หลายคนชอบใช้กันครับ..


Safety is my responsibility
[ความปลอดภัย เป็นหน้าที่ ของฉัน ]

มันเป็นหน้าที่ของ..ผม..คุณ..และทุกคน
เราต้องช่วยกันแล้วครับ

ขอบคุณครับ
โอ พิพัฒพล
23 ตุลาคม 2562

—- อ้างอิง —-
ทำเนียบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย
เส้นทางการพัฒนาความปลอดภัยในการทำงาน