สวนสนุกในห้าง – กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

 

#สวนสนุกในห้าง
#กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

ช่วงปิดเทอม เป็นช่วงที่ผู้ปกครองจะมีเวลาในการได้อยู่ใกล้ชิดกับบุตรหลาน และมีกิจกรรมพักผ่อนแบบครอบครัวมากขึ้น สำหรับผู้ปกครองที่บุตรหลานอยู่ในช่วงเด็กเล็ก สถานที่ที่หลายครอบครัวเลือกที่จะพากันไปเที่ยวในวันหยุด ก็คือ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งหลายที่จะมี #สวนสนุก อยู่ในนั้นด้วย ทำให้สามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย

แต่ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน คงอาจจะยังไม่ทราบ หรือ คิดไม่ถึงว่า สวนสนุกในห้างเหล่านี้ เข้าข่ายเป็น “#กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” จึงขออนุญาตให้ข้อมูลเผื่อเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน ดังนี้..

กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หมายถึง กิจการที่มีกระบวนการ ผลิต หรือกรรมวิธีการผลิต ที่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรค ซึ่ง จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณข้างเคียงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางดิน ทางเสียง แสง ความร้อน ความสั่นสะเทือน รังสี ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า เป็นต้น

ปัจจุบัน เรามี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งได้กำหนดประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไว้ ๑๓ ประเภทหลัก (ดูลิงค์กฎหมายประกอบ)

โดย สวนสนุกในห้างนี้ จะเข้าข่าย เป็นกิจการประเภทที่ ๙ – กิจการที่เกี่ยวกับการบริการ (๑๔) การประกอบกิจการสวนสนุก โบว์ลิ่ง หรือตู้เกม นั่นเอง

ความหมายของ “กิจการสวนสนุก” หมายถึง สถานที่ประกอบการเกี่ยวกับสวนสนุก เช่น สวนสนุกแบบดรีมเวิลด์ สวนสนุกให้ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

หน้าที่ของผู้ประกอบการ คือ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทนี้ โดยในแต่ละท้องถิ่น จะออกข้อบัญญัติของตัวเองออกมากำหนดอีกทีนึง

ซึ่งส่วนใหญ่ จะทำได้โดย..

๑. ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่กิจการนั้นๆ ตั้งอยู่
๒. ใบอนุญาตมีอายุ ๑ ปี และต้องยื่นแจ้งขอต่อใบอนุญาต ก่อนใบอนุญาตเดิมหมดอายุ
๓. ชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนด
๔. ต้องควบคุมกิจการ จัดสถานที่สำหรับประกอบกิจการค้า ให้เป็นไปตามเงื่อนไขอันเกี่ยวด้วยสุขลักษณะ และมาตรการด้านสุขภาพและหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่มีกำหนดในกฎหมาย
๕. แสดงใบอนุญาตไว้โดยเปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบกิจการตลอดเวลาที่ประกอบกิจการ

กรณีฝ่าฝืน ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

………………..
แต่จากการที่ผมเคยลองสำรวจดูสวนสนุกในห้างบางแห่ง พบข้อมูลด้านความปลอดภัยที่น่าสนใจ ที่ผู้ปกครองควรจะพิจารณา และให้ความสำคัญ
ตัวอย่างเช่น…

📌 มีแต่เจ้าหน้าที่เก็บบัตรผ่านเข้า-ออก ไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านในเครื่องเล่นต่าง ๆ คอยดูแล แนะนำการเล่น หรือ ในกรณีเด็กได้รับอันตรายจากเครื่องเล่น ไม่มีคนช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล นอกจากผู้ปกครองเอง
📌 ป้ายเตือน คำแนะนำในพื้นที่มีน้อย หรือไม่มีเลย
📌 ไม่พบหลักฐานการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องเล่นบางประเภท
📌 อุปกรณ์ของเครื่องเล่นบางประเภทชำรุด และ/หรือ ซ่อมแซม ซึ่งอาจไม่คำนึงถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัย
📌 ของเล่นบางประเภท มีทั้งเด็กเล็ก และ เด็กโต ซึ่งมีหลายครั้งที่เด็กเล่นของเล่นแล้วเกิดกระทบกระทั่งกัน (เดี๋ยวผู้ใหญ่จะมีเรื่องกันนะ ^_^)
📌 ไม่พบระบบแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุฉุกเฉินใดๆ เกิดขึ้น

และในเรื่องสุขอนามัย สถานที่แบบนี้ อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค หรือเด็กอาจติดต่อกันได้ เช่น มือเท้าปาก เป็นต้น

…………..
ข้อมูลข้างต้นเหล่านี้ เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนคนเดียวนะครับ แต่อย่างน้อยก็หวังว่า คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานไปเที่ยวเล่นในสถานที่แบบนี้ ไม่มากก็น้อยครับ

ความปลอดภัยคือสิทธิที่เราพึงได้
ขอบคุณครับ
.
.
บทความโดย
โอ พิพัฒพล

++++++++++
อ้างอิง

http://multimedia.anamai.moph.go.th/faq.php
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๘ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/165/16.PDF
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2535/A/038/27.PDF