มีป้ายสถิติความปลอดภัย แสดงว่า ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย?




<br />




มีป้ายสถิติความปลอดภัยแล้ว..
แสดงว่า เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย?
==================================

ไม่แปลก
ที่เราจะเห็นโรงงานหรือสถานประกอบกิจการเกือบทุกแห่ง จะมีป้ายสถิติความปลอดภัย..ที่เขียนว่า

เราทำงานมาแล้ว…..วัน
อุบัติเหตุ LTI ครั้งสุดท้ายวันที่…..
เป้าหมายไม่มี LTI……..วัน

จนดูเหมือนว่าจะเป็น มาตรฐาน หรือเป็นที่เข้าใจว่า เราใส่ใจ หรือ ให้ความสำคัญกับ ความปลอดภัย เราเลยนับหรือ บันทึกข้อมูลสถิติ แล้วเอามาโชว์หน้าโรงงาน ส่วนป้ายความปลอดภัยอื่นๆ ก็มีบ้างมากน้อยต่างกันไป หรือ ไม่มีเลย….

แล้วความหมายของป้ายสถิติความปลอดภัย คืออะไร? มีประโยชน์อะไร? กลุ่มเป้าหมายของป้ายนี้คือใคร? เป็นพนักงาน ผู้รับเหมา ลูกค้า ชาวบ้านที่ขับรถผ่าน? ผลลัพธ์ที่ต้องการ เมื่อคนมาอ่านแล้ว? หรือ สิ่งที่จะได้ตามมาคือ?

หลายคนอาจให้คำตอบเรื่องนี้ว่า..
– ป้ายนี้แสดงให้เห็นว่า โรงงานเรา ปลอดอุบัติเหตุ ยิ่งได้วันสะสมเยอะๆ ยิ่งดี
– เมื่อคนเห็นว่าใกล้เป้าที่ตั้งแล้ว จะได้ช่วยกันระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
– บางโรงงาน เอาไปคิดเป็นโบนัส หรือ เฉลิมฉลอง
– ให้คนภายนอกรู้ว่า เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เป็นต้น

ซึ่งถามว่ามีแล้วดีไหม…ก็ดีครับ
และก็ไม่ผิดที่จะมีป้ายนี้ในโรงงาน

แต่อยากลองชวนคิดบางมุม..
ถ้ามีพนักงานคนนึง ทำเป้าพัง เขาเกิดอุบัติเหตุ
เขาจะเป็นคนร้ายในสายตาคนอื่นไหม
ทำให้เพื่อนโดนหัก KPI อดฉลอง ลดโบนัส
ความรู้สึกเขาจะเป็นยังไง
เมื่อต้องเจอป้ายนี้ทุกเช้าที่เดินเข้าโรงงาน

หรือ มีลูกค้ามาเยี่ยมโรงงานเราทุกปี
เขาเห็นว่าไม่เคยได้ตามเป้าเลย เขาจะคิดยังไง

หรือ ชาวบ้านทั่วไป เขาจะเข้าใจไหม

ทุกคนทราบว่า
การตั้งเป้าหรือ KPI โดยนับสถิติอุบัติเหตุ
ไม่ว่าจะ LTI, First aid, medical treatment
นี่เป็นเป้าหมาย เชิงรับ (Reactive KPI)
ตัวอย่างคือ จำนวนครั้งที่หยุดงาน ไม่เกิน 2 ครั้ง
ปฐมพยาบาลไม่เกิน 10 ครั้ง
LTI = 0.5 (ลดลง 50% จากปีที่แล้ว)
หรือ Fire case = 0 บลาๆๆๆๆๆๆ

วิธีการทำให้ได้เป้าตามนี้ หลายคนใช้วิธีย้อนกลับไปหาวิธีการ/แผนงาน ไปทำการ ประเมิน กำจัด หรือ ควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ซึ่งสิ่งที่เราทำเหล่านี้ สามารถเอามาตั้งเป็นเป้า KPI ได้
เรียกว่า..เป้าเชิงรุก (Proactive KPI) เช่น
– ประเมินความเสี่ยงครบ 100% และมีแผนทุกกิจกรรม
– ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่าง ๆ เสร็จ 100% ตามแผน
– Top 3 risks ได้รับการสื่อสาร/อบรม WI ให้ทุกคน 100%

สิ่งที่น่าคิด ที่อยากจะแชร์ก็คือ..
ทำไมเราไม่ลองเอา Proactive KPI มาทำป้ายบ้างล่ะ
เอางานเชิงรุก เอาเรื่องดี ๆ ที่เรากำลังทำ หรือ จะทำนั้นมาโชว์บ้าง จะดีไหม..

หลายๆ บริษัททำป้ายเหล่านี้ครับ..
▪ป้ายพนักงาน/ผู้บริหารทุกคน เขียน/เซ็นชื่อให้คำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย
▪ป้ายโปรแกรม หรือ กิจกรรมกำจัด Top 3 risks ในโรงงาน
▪ภาพ/โปสเตอร์ พนักงานในโปรแกรมความปลอดภัยต่าง ๆ ติดไว้ตามที่ต่างๆ
▪ป้ายที่แสดงให้คนเห็นแนว visual safety ว่าเรามีวัฒนธรรมความปลอดภัย

ป้ายเหล่านี้..
น่าอ่านกว่า ป้ายสถิติความปลอดภัย ตั้งเยอะ
พนักงานเห็นแล้ว สร้างพลังบวก ได้มากกว่า
คนภายนอกเห็น มองภาพโรงงานนี้ เป็นบวก มากกว่า
และที่สำคัญ มันแสดงให้เห็นว่า
เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ได้ชัดกว่า

ถ้าเพิ่มป้ายเหล่านี้ในโรงงานหรือหน้าโรงงานเยอะๆ ตอบโจทย์ได้ดีขึ้นกว่าป้ายแบบเดิมๆ แน่นอน
มีของดี ๆ อยู่แล้ว..เอาออกมาโชว์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ
……………………….

บทความโดย โอ พิพัฒพล
เป็นคนชนบทในภาคอีสาน ที่เขาเรียกขาน “ตักศิลานคร” เกิดทันยุคที่หมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้า และห้องสุขาคือป่ากล้วย ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างรายเดือน งานเสริมคือเป็น จป.วิชาชีพตามกฎหมาย งานหลักคือทำเพจและเว็บไซต์ ชอบเขียนบทความ แต่งกลอน แต่งเพลง และวิ่ง…
ชอบหาอ่านนั่นอ่านนี่เอามาเขียนมาแชร์ ทำงานสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง บางทีก็แล้วแต่อารมณ์..