Fact sheet..สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศ (Confined Space)


มีข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศ (Confined Space) ระหว่าง ปี 2546 – 2561 มาแชร์ ดังนี้

✅ผู้ประสบอันตรายมีทั้งหมด 210 ราย (เฉลี่ยปีละ 13.12 ราย)
✅จำนวนอุบัติการณ์ Incident case(s) = 62 ครั้ง
✅Fatal case เสียชีวิต 130 ราย
✅Injury case บาดเจ็บ 80 ราย

ถ้านับเฉพาะ 5 ปีย้อนหลัง 2557 – 2561
มีผู้ประสบอันตรายสูงถึง 121 ราย เฉลี่ยปีละ 24.2 ราย

….

📍สาเหตุของการเสียชีวิตที่พบมากที่สุด คือ การขาดอากาศหายใจหรือมีออกซิเจนไม่เพียงพอ และการสูดดมก๊าซพิษ
📍กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ งานจ้างเหมา ผู้ทำงานในโรงงาน เรือประมง งานขุดเจาะบ่อบาดาลในชนบท
📍พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความรู้และไม่ตระหนักในการปฏิบัติตามข้อกำหนดการทำงานในที่อับอากาศ

….

📑 สถานการณ์ปี 2562 (มกราคม – สิงหาคม 2562)
• บาดเจ็บ 3 ราย เสียชีวิต 6 ราย (หญิง 2, ชาย 7)
• อายุ <15 ปี 2 ราย, อายุ 30 – 85 ปี 7 ราย
• เกิดในโรงงานและฟาร์มสุกร 2 ราย, บ่อน้ำบาดาลในชนบท 1 ราย
• จังหวัดที่เกิดเหตุ คือ เพชรบูรณ์, นครศรีธรรมราช, พัทลุง


ที่อับอากาศ (Confined Space) หมายความว่า..

ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัดและไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำและมีสภาพอันตรายหรือมีบรรยากาศอันตราย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

….

มาตรฐานการทำงานในที่อับอากาศ

  1. การตรวจสอบปริมาณอากาศและวัดการปนเปื้อนสารพิษอันตรายก่อนเข้าไปปฏิบัติงานในที่อับอากาศทุกครั้ง
  2. การปรับปรุงระบบระบายอากาศ หากมีการตรวจพบว่าบริเวณที่อับอากาศมีการปนเปื้อนสารอันตรายหรือปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมากเกินกำหนด ต้องทำการปรับปรุงระบบการระบายอากาศ ทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณที่อับอากาศทันที และสม่ำเสมอ
  3. การทำงานในที่อับอากาศต้องมีคนงานอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป ให้ผู้ลงไปปฏิบัติงาน 1 คน และ 1 คนประจำอยู่ทางปากหลุมหรือทางขึ้น-ลง ที่เหลืออีก 1 คน เป็นผู้คอยช่วยเหลืออยู่บริเวณรอบนอก หากพบความผิดปกติต้องช่วยเหลือได้ทันที โดยมอบหมายความรับผิดชอบให้อย่างชัดเจนและต้องผ่านการอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศทุกคน
  4. การจัดหาเครื่องมือป้องกันตนเองและช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนงานที่ลงไปในหลุมลึกต้องสวมเครื่องช่วยตนเองแบบสมบูรณ์ และมีอุปกรณ์สำหรับลากจูงขึ้นจากก้นหลุมลึก และการใช้สายรัดข้อมือ (Wrist cuff) อาจจำเป็นกรณีที่ปากหลุมลึกและแคบ
  5. การควบคุม ตรวจวัด และการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการติดป้ายเตือนภัย ข้อปฏิบัติในการทำงานในที่อับอากาศ และเข้มงวดให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
  6. ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอื่น ๆ ในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562

….

✅ข้อแนะนำสำหรับประชาชน
📌ต้องมีการประเมินสภาพความปลอดภัยในสถานที่อับอากาศ เช่น การใช้เครื่องมือตรวจวัดระดับก๊าซ ระบายน้ำเสียหรือกากตะกอนออกจากบ่อ ท่อ ฯลฯ และเพิ่มการระบายอากาศในพื้นที่อับอากาศ โดยการใช้พัดลมเป่าอากาศบริสุทธิ์ลงไปในท่อเพิ่มเติมและควรทำอย่างระมัดระวัง
📌ห้ามทำให้เกิดประกายไฟ สูบบุหรี่ หรือจุดตะเกียง โป๊ะไฟ ในที่อับอากาศ
📌หากต้องลงไปทำความสะอาดหรือลงไปทำงานในที่อับอากาศ ต้องแน่ใจว่าสภาพภายในมีความปลอดภัยและต้องมีบุคคลคอยช่วยเหลือที่เพียงพอที่อยู่ปากทางหรือด้านนอก
📌หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ในที่อับอากาศ ห้ามลงไปช่วยเหลือทันที และต้องแน่ใจว่ามีการป้องกันตนเองที่ดีเพียงพอ และแจ้งหน่วยงานฉุกเฉินทราบโดยเร็ว
📌หากไม่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องในที่อับอากาศ ไม่ควรเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และควรติดป้ายแจ้งเตือนในจุดที่เป็นที่อับอากาศไว้ด้วย



safetyhubs ศูนย์กระจายความปลอดภัย


เครดิตข้อมูล : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562

Fact sheet_ Confined Space
ภาพแผนที่ประเทศไทย : borntodev.com
ภาพคนงานในที่อับอากาศ : redvector.com