การบริหารจัดการความปลอดภัยผู้รับเหมา


เกริ่นนำ…

การบริหารจัดการความปลอดภัยผู้รับเหมา (Contractor Safety Management/CSM)

ก่อนจะเขียนโพสนี้ ผมก็คิดนานทีเดียว ว่าจะแชร์อะไรได้ไหม แต่เอาเป็นว่า อยากแชร์แล้วกันครับ ก็หวังว่าอาจช่วยให้หลายคนพอได้ไอเดีย ไปปรับใช้ได้บ้าง..

กิจการก่อสร้าง เป็นกลุ่มที่มีลูกจ้างประสบอันตรายและเสียชีวิตจากการทำงานเป็นอันดับ 1 ของประเทศ..จึงทำให้คนงานของบริษัทรับเหมา กลายยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ในการทำงานดังที่เราเห็นตามข่าวรายวัน


ทำไมต้องรู้การบริหารจัดการความปลอดภัยผู้รับเหมา?

เอาแบบสรุปคร่าว ๆ ขอแยกออกเป็น 2 ฝั่งคือ

ฝั่งผู้ว่าจ้าง และ ฝั่งผู้รับเหมา

ในฐานะ ผู้ดูแลความปลอดภัย ฝั่งที่เป็น Owner (ผู้ว่าจ้าง) จะต้องมี และต้องทราบว่า เราจะจัดการ ควบคุม ผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานกับเราได้อย่างไร มีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องดู ต้องทำ ในภาพของ ระบบหรือโปรแกรมการจัดการ เพื่อให้มั่นใจว่า จะบริหารความเสี่ยงทั้งหมดของงานได้อย่างครอบคลุม งานสำเร็จตามเป้าหมาย และ ไม่มีอุบัติเหตุ


ส่วนที่เป็นฝั่งผู้รับเหมา (มีคนจ้างเราไปทำงาน) จะได้มองออก ว่าทำไม เขาสั่งให้เราทำนั่นทำนี่ โดยเฉพาะ ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้ควบคุมงานที่ต้องคุมความปลอดภัยหน้างาน จะไม่ได้ติดกับดักทางแนวคิดว่า มี จป. เอาไว้ เพื่อให้ทำ safety talk, ตรวจหน้างาน (inspection), แจกใบเตือน, ถ่ายรูปทำรายงาน หรือ ให้มีตามกฎหมาย ให้มีตามสัญญาจ้าง..แล้วก็เหมาว่างานความปลอดภัยของไซต์ทั้งหมดมีเท่านี้.. ซึ่งแท้จริงแล้ว มันเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของ ระบบหรือโปรแกรม เท่านั้น..


และแน่นอน เมื่อเราเข้าใจและมีระบบจัดการความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน เมื่อมีผู้ว่าจ้างที่มองหาผู้รับเหมาที่มีระบบ/โปรแกรมด้านความปลอดภัย มาประมูลงานด้วย..โอกาสที่บริษัทเราจะได้งานนั้น ๆ ก็ย่อมมีมากกว่าบริษัทอื่น ถูกต้องไหมครับ และทั้งผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ก็คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้น (ได้งาน) นั่นเอง..

ผมเคยมีประสบการณ์ทำงานไซต์ก่อสร้างที่ต่างประเทศในฝั่ง Owner ซึ่งมีผู้รับเหมาหลัก (Main contractor) 5-6 บริษัท ที่เหลือก็เป็น subcontractor รองๆ ไล่เลียงกันไป รวมๆ แล้วมีคนงานเกิน 10,000 คน..

ซึ่งก็พบว่า แต่ละบริษัทก็มีระบบงาน (management system) ของตัวเองมากน้อยและซับซ้อนต่างกัน รวมถึงระบบงานด้านความปลอดภัยด้วย


ถึงตรงนี้..หากจะพูดถึง ระบบ (system)
ผมขอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เป็น 4 ข้อ ดังนี้ครับ

Contractor Safety Management ประกอบด้วยขั้นตอน/กระบวนการ หลัก ๆ ดังนี้

การคัดเลือกผู้รับเหมา (Pre-qualification/Selection)
การควบคุมผู้รับเหมา (Control) – กระบวนการก่อนเริ่ม/นโยบาย/การบริหารสัญญา
การตรวจสอบผู้รับเหมา (Inspection) – ประจำวัน/สัปดาห์/เดือน
การประเมินผู้รับเหมา (Evaluation) – รายเดือน/ปี/หลังจบงาน


ระบบนั้นจากหลายบริษัท อาจกำหนดเป็นหัวข้อที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ แต่หลักการก็ไม่พ้น

ก่อนเริ่มงาน – ขณะกำลังก่อสร้าง – และหลังก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างจากต่างประเทศ ก็อาจแบ่งได้เป็น 5 หัวข้อ
ภาพจาก Best Practices Contractor Management / Cambpell Institute


เมื่อเราได้รู้ว่าแต่ละหัวข้อแต่ละขั้นตอน ต้องมี ต้องทำ อะไรบ้าง เราก็จะประเมินได้ว่า เรามี หรือ ขาด อะไรบ้าง จะได้หาโอกาส ปิดช่องว่าง (gap) เหล่านั้น รวมถึงมองภาพการทำงานได้ชัดขึ้น ครอบคลุมขึ้น เป้าชัดขึ้น ไม่วอกแวก หรือเครียด กับ ปัญหาจุกจิก นั่นนี่ระหว่างทาง..


อีกครั้งหนึ่ง.. ขอเน้นว่า
ผมพูดถึง ตัวระบบหรือโปรแกรม โดยไม่ได้มุ่งไปที่ความเชี่ยวชาญในงานความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะผมเชื่อว่า หลาย ๆ ท่าน ก็มีประสบการณ์ ในหลากหลายธุรกิจ และเก่งถึงขั้นเป็นมือโปร มืออาชีพ กันเยอะมากครับ
.
.
เรื่องราวเหล่านี้น่าสนใจมากครับ…
ผมจะมาอธิบายทั้ง 4 หัวข้อ ในโอกาสต่อ ๆ ไป

ขอบคุณครับ
โอ พิพัฒพล
(ต้ฉบับ ก.ย. 2561)