ความเสี่ยงทั่วไปในงานก่อสร้าง

จบใหม่ ทำงานสายไหนดี
สายโรงงาน กับ ก่อสร้าง อันไหนดีกว่า..

นี่เป็นคำถามที่น้องๆ จบใหม่ ถามในอินบ้อกซ์เยอะพอสมควร คำถามต่อไปก็หนีไม่พ้น..ไปเริ่มงานวันแรก อาทิตย์แรก ทำอะไรดีคะ/ครับ?

วันนี้ผมไม่ได้มาเขียนตอบคำถามเหล่านี้ครับ เพราะมันไม่ใช่สูตรสำเร็จของทุกคนในการทำงาน..และผมเชื่อว่า วันเวลา จะให้คำตอบเหล่านี้ชัดเจนกับทุกคนเองว่า อันไหนตอบโจทย์และถูกจริตของตน…เชื่อไหมบางคนได้ทำแล้ว ไม่ชอบการเป็น จป. ก็มี และเลือกเดินสายงานอาชีพอื่นๆ ไปก็เยอะ..

ส่วนตัวแล้ว ผมเคยทำงานทั้ง ในโรงงาน งานโลจิสติกส์ งานขนส่งและศูนย์กระจายสินค้า และ งานก่อสร้างในต่างประเทศ ผมคิดว่า การปรับตัวและการประยุกต์ใช้ความรู้ของเรา มีความหมายมากกว่าสิ่งอื่นใด..

พูดถึงตรงนี้แล้ว ก็เลยจะขอนำเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ มาเขียนให้คนที่ จบใหม่ และ หรือคนที่เริ่มมองและสนใจมาทางสายก่อสร้าง ได้อ่านกัน

ขอเล่าประเด็นเดียว คือเรื่อง ความเสี่ยง (Risk) ความเสี่ยงทั่วไปในงานก่อสร้าง ที่เราต้องไปเจอ..และต้องเข้าไปจัดการ..ให้ปลอดภัย มีอะไรบ้าง ทำไมมันดูเยอะแยะ มากมาย

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า งานก่อสร้างใหญ่ๆ หรืองานที่เป็นโปรเจค จะต้องมีคนคุม จะระดับไหนก็แล้วแต่ลักษณะโครงการของแต่ละที่ เอาเป็นว่า ต้องมีระดับจัดการ (Management level) ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลทั้งหมด รวมถึงความปลอดภัยในพื้นที่ไซต์ก่อสร้างทั้งหมดด้วย

ถ้าพูดตามกฎหมาย.. ก็อาจเป็น นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้าง เป็นผู้รับผิดชอบ ในการตรวจสอบว่า สภาพการทำงานต่าง ๆ มีความปลอดภัยหรือไม่ก่อนเริ่มงาน และต้องมั่นใจว่างานที่จะทำนั้น จะไม่ไปทำให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนจะต้องอาศัยการบริหารจัดการความปลอดภัย วางแผนและการจัดแผนผังองค์กรที่ดีร่วมด้วย…(พรบ.ความปลอดภัยฯ ปี 54 ม.6, ม.8)

ส่วนคนที่ทำงานในไซต์ก่อสร้างทุกคน ต้องเข้าใจว่างานจะสำเร็จลุล่วงตามแผน และไม่ทิ้งมาตรฐานความปลอดภัยต้องทำอย่างไร รวมถึงต้องตระหนักว่าต้องปฏิบัติตลอดเวลาที่ทำงานด้วย กล่าวในภาพรวมนะครับ

…………….
แล้วไซต์งานก่อสร้างมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

งานก่อสร้างนั้นมีอันตรายและความเสี่ยงสูง ถึงแม้ว่าคนงานหลายคนจะคุ้นเคยกับการทำงานก่อสร้างอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีแนวโน้มจะเกิดอันตรายได้เช่นเดิม..

หลายไซต์งานก่อสร้าง จะมีเครื่องจักรแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะของงาน ซึ่งมีโอกาสที่คนงานจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้เสมอ ไม่เว้นแต่ผู้คนที่เดิน หรือสัญจรผ่านไปมาพื้นที่ใกล้เคียง ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องมีการเลี้ยว หมุน เครื่องจักรไปมารอบๆ พื้นที่ หรือมีของหล่น ดังที่เราเจอตามข่าวเยอะแยะ…

#ตัวอย่างของความเสี่ยงในงานก่อสร้าง ที่เราจะพบได้ทั่วไปครับ

1. เครื่องจักร เครื่องมือกล ปั้นจั่น เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ
2. สะดุดและหกล้มจากกองวัสดุ หรือ เครื่องมือ หรือพื้นเปียก
3. ความเสี่ยงทางกายภาพต่างๆ เสียงดัง นอกจากทำให้สูญเสียการได้ยินแล้ว เสียงยังสามารถรบกวนการได้ยินจนนำไปการเกิดอันตรายอื่น
หรือ อุณหภูมิที่รุนแรง ร้อนมาก หนาวมาก ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้
นอกจากนี้ยังมี ฝุ่นละออง สารพิษ สารเคมีอันตราย ที่คนงานสัมผัส จนอาจเกิดโรคจากการทำงาน
4. ความเสี่ยงจากกิจกรรมการยกเคลื่อนย้ายวัสดุ
5. ความเสี่ยงจากลักษณะของสถานที่ทำงาน เช่น ที่อับอากาศ ที่สูง หลุม บ่อ ท่อ ใต้น้ำ ใต้ดิน เป็นต้น
6. วัสดุที่นำมาใช้ในงานก่อสร้างหลายอย่างสามารถลุกติดไฟได้
7. ขยะในพื้นที่ที่ไม่มีการจัดเก็บทำให้เกิดปัญหาโรคติดต่อ
เป็นต้น…

+++++++++
หรือ..บางคนอาจเลือกประเมินง่ายๆ
แบ่งเป็น อันตรายจากสภาพแวดล้อมรอบๆ

– อันตรายทางกายภาพ
– ชีวภาพ
– เคมี
– และ เออร์โกโนมิกส์
พวกนี้ก็ได้ตามแต่สะดวก

หรือ ดูตาม #วงล้อของการประเมินอันตราย
hazard wheel 10 ข้อ ก็ได้
▪แรงโน้มถ่วง (Gravity)
▪การเคลื่อนที่ (Motion)
▪เครื่องมือกล (Mechanical)
▪ไฟฟ้า (Electrical)
▪ความดัน (Pressure)
▪อุณหภูมิ (Temperature) ร้อน/เย็น
▪สารเคมี (Chemical)
▪ชีวภาพ (Biological)
▪รังสี (Radiation)
▪เสียง (Noise)

…………….
แล้วกฎหมายที่เกี่ยวข้องละมีอะไรบ้าง?
ยกตัวอย่าง กฎหมายบางฉบับของไทยครับ..ที่เกี่ยวข้องกับไซต์งานก่อสร้างโดยตรง คือ

1. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551

2. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานสำหรับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2552

หรือ ทางอุตสาหกรรมก็ทำออกมา ให้ใช้เป็นแนวทาง คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4516(พ.ศ. 2556) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เล่ม 1 การบริหารความปลอดภัยทั่วไป

(กฎหมาย มาตรฐานอื่นๆ ขอยังไม่กล่าวถึงในบทความนี้ครับ..)

…………..
ทั่วไปในไซต์งานก่อสร้าง จะมีระเบียบด้านความปลอดภัย พื้นฐาน ที่พบได้…ดังนี้ครับ

1. กฎความปลอดภัยของไซต์ก่อสร้างและระเบียบปฏิบัติการทำงาน
2. มาตรฐานการทำงานต่างๆ การจัดเก็บ ขนส่ง สารเคมี ที่มีในไซต์
3. ข้อมูลความปลอดภัยที่จำเป็น เช่น ขั้นตอนการทำงาน การอบรม และการควบคุมงาน ตรวจความปลอดภัย เป็นต้น
4. การดูแลพื้นที่ทำงานทั่วไป รวมถึงมาตรการเข้าออกพื้นที่
5. จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงสวัสดิการที่จำเป็นอย่างเหมาะสม

……………..
กล่าวโดยสรุป
เอาเข้าจริงแล้ว..ทั้งหมดนี้ให้เรามองภาพง่ายๆ แบบวงจรเดมมิ่ง PDCA เอามาจับก็ได้ครับ..

1. การวางแผนก่อน-ขณะ-คอมมิชชั่นนิ่ง-จบงาน
2. การควบคุมขณะปฏิบัติ
3. การตรวจสอบและแก้ไขหน้างาน
4. การทบทวนและปรับปรุงงานเสมอ

วงจร deming

ส่วนตัวแล้ว ผมอยากเน้น ให้มองภาพของการบริหารจัดการก่อน (Safety management program) ค่อยไปเจาะเรื่อง งานประจำ (Routine) พวก Safety talk, Inspection, Morning meeting ที่ จป. ทั่วไปต้องทำในแต่ละวัน จะได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว เราจะเริ่มทำอะไรก่อน-หลัง ตามลำดับ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ มือใหม่ ที่จะมาทางสายก่อสร้างครับ ขาดตกบกพร่องขออภัย
และขอบคุณที่อ่านจบ..

……………………….
บทความโดย โอ พิพัฒพล
30/05/2561

ref: https://whatis.techtarget.com/definition/PDCA-plan-do-check-act
ภาพ : pixabay
เว็บ www.safetyhubs.com
Facebook : www.facebook.com/safetyhubs