รถโรงเรียน ความปลอดภัยที่ต้องไม่ละเลย


รถโรงเรียน กับ รถรับส่งนักเรียน

เมื่อพูดถึง รถโรงเรียน เรานึกถึงรถอะไรบ้างครับ เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึง รถบัสหรือรถขนาดใหญ่หน่อย คันสีเหลือง ๆ แถบดำ เหมือนในหนังหลาย ๆ เรื่องที่เคยดู..
แล้วเคยสงสัยไหมครับว่า

รถโรงเรียน กับ รถรับส่งนักเรียน ต่างกันมั้ย และต่างยังไง?? วันนี้ผมเลยเอาเรื่องนี้มาแชร์ครับ


รถโรงเรียน

ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 หมายถึง รถบรรทุกคนโดยสารที่โรงเรียนใช้รับส่งนักเรียน ต่อมา ในกฎกระทรวงฉบับที่ 22 (พ.ศ.2526) ยังให้รวมถึง รถที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง นําไปใช้ในการรับส่งนักเรียนเพื่อการศึกษาตามปกติ

มีกฎหมายอีกอันนึง ที่เกี่ยวข้องด้วย คือ ระเบียบกระทรวงศึกษา ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2536 ให้คำจำกัดความเพิ่มเติมอีกว่า เป็นรถที่โรงเรียนให้บุคคลภายนอกมารับส่งนักเรียนเพื่อการศึกษาตามปกติด้วย…

ดังนั้น เอาไปเอามา รถโรงเรียน จึงครอบคลุม รถทุกอย่าง ที่ให้บริการรับส่งนักเรียนทั้งหมดเลย (ดีไหมครับ)

จริง ๆ แล้ว รถโรงเรียน คือ รถที่มีทางขึ้นลงด้านข้าง ตัวรถ มีสีเหลืองคาดสีดำ และโรงเรียนเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้รถ หากโรงเรียนไม่ได้เป็นเจ้าของรถ รถคันนั้นก็ต้องได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แล้วก็นำรถมารับจ้างกับทางโรงเรียน

ส่วน รถรับส่งนักเรียน หรือ รถรับจ้างรับส่งนักเรียน คือรถที่ชาวบ้าน หรือใครก็ได้มารับจ้างรับส่งนักเรียน จากบ้าน-โรงเรียน / โรงเรียน-กลับบ้าน ซึ่งผู้ปกครองตกลงกับเจ้าของรถกันเอง (ไม่เกี่ยวกับโรงเรียน) ซึ่งก็เป็นรถทั่ว ๆ ไปที่เราเห็นนั่นละครับ ตั้งแต่รถกระบะมี/ไม่มีหลังคา เสริมเบาะเป็นรถสองแถวบ้าง รถตู้ รถหกล้อ ตามแต่ที่เจ้าของรถนำมาใช้

รถรับส่งนักเรียน ตามที่กรมการขนส่งทางบกกําหนด

รถโรงเรียนนั้น มันมีกฎหมายกำหนด ควบคุมหลาย ๆ เรื่อง (ดูลิงค์กฎหมายประกอบครับ) ซึ่งก็ดีมากถ้าทำได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ตามที่เราเห็นนั่นละครับ

ส่วน รถรับส่งนักเรียน ก่อนนี้ไม่มีมาตรการความปลอดภัยอะไรเลย จนมาถึงปี 2559 มีประกาศจากกรมการขนส่งทางบก กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนขึ้นมา คือ

  1. อนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด อาทิ ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน
    (เด็กนั่งเกิน 12 คนไหม??)
  2. ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืน รถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก รถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น (เด็กยืน/โหนมีไหม??)
  3. รถต้องผ่านการตรวจสอบจาก สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษา (ผ่านหมด?)
  4. รถรับส่งนักเรียนทุกคัน ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้าย มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสี (ครบไหม??)
  5. ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย (มีจริงไหม??)
  6. คนขับต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ มีผู้คนดูแลนักเรียน ประจำยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง (มีไหม?)

ปัญหาที่พบช่วงแรก คือ เจ้าของรถไม่ได้ไปขออนุญาตครับ และสิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา รับรองการใช้รถ (ของชาวบ้าน) โรงเรียนคงทำได้แค่แนะนำ เตือน ไม่มีอำนาจอะไรหรอกครับ ไม่ให้ผ่าน นักเรียนก็ไม่มีรถมาโรงเรียน ผู้ปกครองก็คงจะด่าครู (ผมมั่นใจ)
แล้วก็เรื่อง ต่อเติม ปรับปรุงรถโน่นนั่นนี่ เราจะไปห้ามเจ้าของรถเขาได้อย่างไร ก็รถของเขา หนำซ้ำเรื่องสภาพคนขับรถ แฮ้งค์มาหรือไม่ ขับรถเป็นอย่างไร…ไม่อยากคิดเลยว่า แต่ละวันชีวิตลูกหลานเราเสี่ยงขนาดไหน

………

ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนโดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนหรือ ศวปถ. ในปี 2560 มีอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน 30 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 386 ราย (นักเรียนบาดเจ็บเฉลี่ย 1 ราย/วัน) และมีนักเรียนเกินครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ กำลังใช้บริการรถรับส่งนักเรียนอยู่ ซึ่งมีโอกาสจะเกิดความสูญเสียได้อีก


หากนำระบบ Road Safety Management ของกล่มธุรกิจขนส่งหลายๆ ที่ทำกันมาปรับใช้กับรถของโรงเรียนได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ..
เช่น มีนโยบายรถปลอดภัย มีการประชุมติดตาม ทำประวัติคนขับรถ มีคณะกรรมการรถรับส่งนักเรียน มีกฎความปลอดภัยต่าง ๆ มีการตรวจสภาพ ประเมินคนขับ มีการช่วยเหลือกันทั้งนักเรียน และ ผู้ปกครองร่วมด้วย เป็นต้น

และล่าสุดมี #ประกาศระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน ปี 62 ที่เพิ่งออกมาใหม่..และให้ยกเลิกระเบียบเดิมที่ประกาศใช้ปี 36


ระเบียบนี้..พูดถึงเรื่องอะไร
พูดถึงเรื่อง ความปลอดภัยของรถโรงเรียนล้วน ๆ ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่พอสมควร โดยเฉพาะของกรมขนส่ง คือ กฎกระทรวง กําหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555


ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ปี 62 Vs ปี 36 มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
สรุปมาให้ดังนี้

สิ่งที่ไม่ต้องทำ/ไม่ต้องมี/ไม่กำหนดไว้

  • ไฟสัญญาณสีเหลืองอำพัน (กระพริบ) ที่ติดกับรถ
    (คิดว่า..มีอยู่ในกฎกระทรวงของขนส่งแล้วก็เลยตัดออกไป..แต่ยังมีผลบังคับใช้)
  • เครื่องมือปฐมพยาบาลประจำรถ
  • ส่งรายงานผลการใช้รถโรงเรียน (ภาคเรียนละ 1 ครั้ง)
  • พนักงานขับรถ/ควบคุมดูแลนักเรียน ต้องอบรมตามเกณฑ์ที่ศึกษาธิการ/ขนส่ง/ตำรวจกำหนด
  • ผู้ควบคุมดูแลนักเรียน เดิมกำหนดว่า #ต้องเป็นครูหรือบุคคล แต่ระเบียบใหม่ #ตัดคำว่าครู ออกไป

สิ่งที่ต้องทำเพิ่ม/มีเพิ่ม

เพิ่มหน้าที่ของพนักงานขับรถ จาก 4 ข้อ เป็น 11 ข้อ ที่เพิ่มมาให้มีดังนี้
o ต้องขับรถด้วยความปลอดภัย
o ต้องให้นักเรียนขึ้นนั่งประจำที่ให้พร้อมก่อนเคลื่อนรถ
o ต้องกำกับดูแลให้นักเรียนรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งเพื่อป้องกันอันตรายในขณะโดยสาร ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
o ต้องไม่ขับรถในลักษณะประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน
o ต้องไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยพนักงานขับรถไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
o ต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ และระเบียบว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด
o เข้ารับการอบรมตามที่โรงเรียนหรือผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนกำหนด

จัดให้มีระบบหรือช่องทางที่สามารถติดต่อสื่อสารกับพนักงานขับรถโรงเรียน หรือผู้ควบคุมดูแลนักเรียนได้ตลอดเวลาในขณะรับ – ส่งนักเรียน แต่เดิมใช้คำว่า ควรจัดให้มีเครื่องมือสื่อสาร (ไม่ทำก็ไม่ผิด)



แน่นอนว่า รถโรงเรียน รถรับส่งนักเรียน เป็น 1 ในเสาหลัก ของการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดกับลูกหลานนักเรียนลงให้ได้เยอะที่สุด..ช่วยกันเพื่อลูกหลานเราครับ
ความปลอดภัยตรงนี้ ต้องไม่ถูกละเลยจากทุกภาคส่วน เพราะเราไม่อยากนั่งอ่านข่าวลืมเด็กในรถโรงเรียน รถโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุ..มันเศร้าครับ

ขอบคุณครับ
บทความโดย โอ พิพัฒพล


อ้างอิง
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2536 (ยกเลิก)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
มาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน กรมการขนส่งทางบก
บทความ การกำหนดมาตรฐาน “รถรับส่งนักเรียนของประเทศไทย” มาถูกทางแล้ว จริงหรือ?
รถรับ-ส่ง นักเรียน มาตรฐานรถรับส่งนักเรียน รถของคนในอนาคตชาติ – มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค