มาตรฐานปลั๊กพ่วง


มาตรฐาน ปลั๊กพ่วง
————————-


เข้าเรื่องเลยครับ…

ปลั๊กพ่วง..ที่เราใช้อยู่นั้น ในอดีตยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. รับรองนะครับ ที่เห็นว่ามี มอก. นั้นอาจจะมีเพียง มอก.บางตัว เช่น มอก. ของสายไฟ / ของสวิตซ์ / ของ เต้าเสียบ เป็นต้น…บางทีผู้ขายก็ไม่ได้บอกเรา ส่วนเราก็นึกว่า ได้ มอก. คือเหมารวมว่าคือชุดปลั๊กพ่วงทั้งหมด.. ซึ่งไม่ใช่

ในปี 2552 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. จึงได้เริ่มทำการศึกษาแนวทางและออกข้อกำหนดมาตรฐานชุดสายพ่วงเพื่อให้เป็นมาตรฐานของไทยเรา

จนเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์และประกาศใช้ ในปี 2555 ประกาศนี้ชื่อ..

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4473 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : ชุดสายพ่วง

หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า มาตรฐานชุดสายพ่วง มอก.2432-2555

แต่หลังจากประกาศเป็นมาตรฐาน มอก. แล้ว ก็ยังติดปัญหาการบังคับใช้ เพราะมีผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีผลประโยชน์ โน่นนั่นนี่ นำมาซึ่งการเปิดรับฟังความเห็นกันพอสมควร

จนกระทั่งถึง 24 กุมภาพันธ์ 2560
ก็มีพระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดให้ใช้มาตรฐาน มอก.2432-2555 ดังกล่าว

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : ชุดสายพ่วงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2560



ใน พรก. นี้ระบุให้ใช้หลังประกาศ 365 วัน ซึ่งก็คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 นั่นเอง..


————-

10 ข้อสังเกตปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก. 2432-2555

  1. มีตรามาตรฐาน มอก. 2432-2555 ปรากฎบนปลั๊กพ่วง
  2. สวิตช์ได้มาตรฐาน มอก. 824-2551
  3. หัวปลั๊กต้องเป็นแบบกลมทั้ง 3 ขา ตามมาตรฐาน มอก.166-2549 เท่านั้น
  4. รองรับกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 16 A แรงดันไฟฟ้าต้องไม่เกิน 440 W
  5. ปลั๊กพ่วงต้องทำจากวัสดุที่ไม่ติดไฟ
  6. สายไฟ ต้องตรงตามมาตรฐาน มอก. 11-2553 หรือ มาตรฐานอื่นที่สอดคล้องกับ มอก. 955
  7. ปลั๊กพ่วงที่มีเต้ารับตั้งแต่ 3 เต้าขึ้นไป จะต้องมีตัวตัดไฟแบบเบรกเกอร์ (RCBO หรือระบบ Thermal) – ห้ามเป็นแบบฟิวส์
  8. เต้ารับทุกเต้าจะต้องต่อสายดินจริง ห้ามใช้รูสายดินหลอก
  9. เต้ารับจะต้องสอดคล้องกับ มอก. 166-2549 ต้องมี L N G และมีม่านนิรภัย (ชัตเตอร์) ปิดที่เต้ารับ (ป้องกันอันตรายหากมีตัวนำไฟฟ้าแหย่ลงไป)
  10. พื้นที่หน้าตัดสายไฟและความยาว การรองรับไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานนี้กำหนด
ลักษณะของปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน (ที่มา the power-HomePro)
  • ข้อมูลอื่น ๆ เช่น
  • มอก.ฉบับนี้ บังคับใช้กับปลั๊กพ่วงแบบหยิบยกได้ รวมถึงชุดสายพ่วง
  • การใช้งาน ที่อุณหภูมิภายนอกห้ามเกิน 40 องศาเซลเซียส และถ้าใช้งาน 24 ชั่วโมง อุณหภูมิเฉลี่ยโดยรอบห้ามเกิน 35 องศาเซลเซียส
  • ปลั๊กพ่วง 2 ขา แบบเดิมนั้น ห้ามทำการผลิตเพิ่ม แต่ยังขายต่อได้จนกว่าจะหมด


สรุป…มาตรฐานปลั๊กพ่วง เกิดจากการรวมเอา มาตรฐาน มอก. หลาย ๆ เรื่องมาประกอบกัน
ดังนั้น เราในฐานะผู้บริโภค (ผู้ใช้งาน) ก็ต้องสังเกตุก่อนเลือกซื้อมาใช้ หรือ ถ้าใช้งานปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ ก็ควรจะเปลี่ยนมาใช้ปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก. ปลอดภัยกว่าครับ


หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ
_________

เครดิตข้อมูล :
ไฟล์ มอก. 2432-2555 ของ สมอ. 
ลักษณะของปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน (ที่มา the power-HomePro)
มอก.ปลั๊กพ่วงฉบับล่าสุด — plugthai.com/
ภาพ — ปลั๊กพ่วง Panasonic