มาตรฐานคาร์ซีท (car seat) สำหรับเด็ก มาตรฐานยุโรป R44.04

มาตรฐานคาร์ซีท (car seat) สำหรับเด็ก
มาตรฐานยุโรป R44.04
——————————–

พ่อแม่มือใหม่หลายคน คงประสบปัญหา และยังไม่ทราบประเภท รวมถึงวิธีเลือก car seat ให้เหมาะกับลูกรัก..
safetyhubs จึงรวบรวมเอาข้อมูลมากระจายให้รู้กัน..

คาร์ซีท (car seat) คือเบาะนั่งที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัยโดยใช้ระบบผูกรัดให้ติดกับเบาะนั่งของเด็ก (Child Restraint Systems : CRS) ป้องกันไม่ให้เด็กกระเด็นจากเบาะ ไม่ว่าจะจากการเบรคอย่างแรง หรือ รถชน นอกจากนี้ยังสามารถดูดซับแรงกระแทกจากการชนได้บางส่วนด้วย นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของลูกรักของคุณก็ลดลงนั่นเอง

ในยุโรปนั้น สหภาพยุโรป มีกฎหมาย Directive 2003/20/EC กำหนดให้เด็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 150 cm. หรือหนักไม่เกิน 36 กิโลกรัม (79 ปอนด์) จะต้องใช้คาร์ซีท (CRS) ตลอดเวลาที่โดยสารไปกับรถ ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องออกกฎหมายให้สอดคล้องตามนี้

ในบ้านเรา ยังไม่มีกฎหมายกำหนดมาตรฐานของคาร์ซีท และยังไม่ได้กำหนดให้เด็กต้องนั่งคาร์ซีทด้วย หากจะมีที่เกี่ยวข้องกับการคาดเข็มขัดนิรภัยก็คือ คำสั่งล่าสุดของ คสช. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 21 มีนาคม 2560 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก


ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย”

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

 

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเราจะนั่งที่เบาะหน้าหรือเบาะหลัง ก็ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งก็น่าจะนับรวมถึงเด็กๆ ของเราด้วย

———————————-

ถึงจะยังไม่มีมาตรฐานใด ๆ เราก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยของเด็ก เพราะทุกคนคงทราบดีว่า ประเทศไทย มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาต่อเนื่องหลายปี
safetyhubs.com จึงจะขอนำตัวอย่างมาตรฐานคาร์ซีทฝั่งยุโรป มาเขียนให้อ่านกัน นั่นคือ ECE regulation R44.04 ..ดังนี้

ลักษณะของคาร์ซีท
ถ้าจะแบ่งตามลักษณะการติดตั้งและผูกรัด หรือ รูปร่างลักษณะ แบ่งได้ 5 แบบ
1. Rearward-facing คือ คาร์ซีทนี้จะวางที่เบาะและติดตั้งให้เด็กหันหน้าเข้าหาเบาะรถ
2. Extended rearward-facing คือ คาร์ซีทที่ให้เด็กหันหน้าเข้าหาเบาะรถเช่นกัน แต่มีฐานที่สามารถปรับเข้า-ออกได้
3. Forward-facing แบบ convertible คือ คาร์ซีทติดตั้งโดยให้เด็กหันไปข้างหน้ารถ และสามารถถอดสายรัดออกได้ หรือ ใช้เข็มขัดเดิมของรถมาใช้ได้
4. High-back booster คาร์ซีทนี้จะหันไปข้างหน้ารถ และรูปร่างเหมือนเบาะรถปกติ แต่จะมีส่วนป้องกันศีรษะ คอและลำตัว และไม่มีเข็มขัดรัดในตัว
ใช้เข็มขัดนิรภัยของรถในการคาด
5. Booster cushion เป็นคาร์ซีทที่เหมือนเพิ่มหมอนรองนั่งเสริม เพื่อให้คาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถได้ปลอดภัยขึ้น

หากจะแบ่งตามน้ำหนักของเด็ก แบ่งได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ Group 0, 1, 2, 3
และมีกลุ่มย่อยๆ เพิ่มเติม ตามภาพด้านล่าง..

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คาร์ซีท แบบไหนจึงจะเหมาะกับเด็ก

สามารถกำหนดตาม Group น้ำหนักของเด็กตามภาพด้านบน หรือ ประเมินเป็นช่วงน้ำหนักด้านล่างนี้ก็ได้
1. น้ำหนัก 0-13 กิโลกรัม คาร์ซีทที่เหมาะสมคือประเภท Rearward-facing
2. น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม คาร์ซีทที่เหมาะสมคือประเภท Forward-facing
3. น้ำหนัก 9-25 กิโลกรัม คาร์ซีทที่เหมาะสมคือประเภท Extended rearward-facing
4. น้ำหนัก 15-36 กิโลกรัม คาร์ซีทที่เหมาะสมคือประเภท High-back booster (ไม่มีสายรัด)
5. น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม คาร์ซีทที่เหมาะสมคือประเภท Booster cushion

 

คราวนี้แล้วเราจะดูยังไงว่าคาร์ซีทที่จะซื้อ หรือที่ใช้อยู่นั้นปลอดภัยดีพอแล้ว
…ข้อแนะนำก็คือ..
1. มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น มาตรฐานยุโรป ECE regulation 44.04/44.03, UN standard 129 (new I-size)
2. เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูงของลูกน้อย
3. ติดตั้งคาร์ซีทได้ถูกต้องตามคู่มือผู้ผลิต

——————————–
นอกจากนี้คาร์ซีท ยังสามารถแบ่งตามการนำไปติดตั้งกับเบาะรถยนต์ได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

1. Universal คาร์ซีทแบบนี้ได้รับรองให้ติดตั้งในรถทุกประเภทที่มีระบุว่ามี ISOFIX โดยคาร์ซีทแบบนี้จะได้รับรอง UN standard R129 (i-size) ด้วย
2. Semi-universal คาร์ซีทแบบนี้ อาจต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม หรือต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้ปลอดภัย
3. Vehicle specific approval คาร์ซีทแบบนี้จะออกแบบสำหรับรถบางประเภท หรือมีการเพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ

—————————–
ISOFIX คืออะไร
ISOFIX คือ ระบบการติดตั้งคาร์ซีทมาตรฐาน UN standard ที่ได้รับการยืนยันถึงความปลอดภัยระดับสูงสุด ติดตั้งได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เข็มขัดจากเบาะรถ

ลักษณะ ISOFIX จะเป็นแกนเหล็กที่ถูกติดตั้งมาแล้วจากโรงงาน ตรงที่พับเบาะ ในรถฝั่งยุโรปจะมี ISOFIX ทุกรุ่น ส่วนรถญี่ปุ่น model หลังปี 2014 ก็มีเกือบทุกรุ่นเช่นกัน
ปัจจุบันหลาย ๆ รุ่นจะมี support เหมือนขารองรับยันที่พื้นและมีสายรัดเบาะคาร์ซีทเพิ่มมากขึ้นด้วย (แล้วแต่รุ่นของรถ)

ดังนั้น เมื่อจะซื้อคาร์ซีทแบบ ISOFIX เราต้องรู้ก่อนว่า รถของเรารองรับ ISOFIX (Latch) ให้เสียบหรือไม่

จุดสังเกต ISOFIX แบบต่าง ๆ
จุดติดตั้ง ISOFIX ที่เบาะรถ และ ฐานของคาร์ซีทที่เชื่อมต่อ ISOFIX

 

 

 

 

สัญลักษณ์และความหมายของสติกเกอร์มาตรฐาน ECE R44.04

 

ตัวอย่างสติกเกอร์ที่ได้รับ UN standard R129 (i-size)

 

——————————–
ข้อมูลเพิ่มเติม 1

มาตรฐาน ECE regualtion 44.04 (ก่อนหน้าคือ 44.03) จะได้รับการรับรองมาตรฐานและยังใช้อยู่ปัจจุบัน ส่วน 44.01, 44.02 ปัจจุบันถูกห้ามจำหน่ายในยุโรปเรียบร้อยแล้ว
ภายใต้มาตรฐาน ECE R44.03 & ECE R44.04 คาร์ซีทจะต้องผ่านการทดสอบการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 50 กม. / ชม. และทดสอบการชนกระแทกที่ด้านหลัง 30 กม. / ชม. รวมถึงทดสอบชนแบบรถพลิกคว่ำหลายตลบด้วย (rollover) โดยใช้หุ่นตามน้ำหนักของเด็กที่ทดสอบ


—————————————-
 

สถิติความปลอดภัยและสถานการณ์ในไทย
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและการป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (Child Safety Promotion and Injury Prevention Research Center)
รายงานว่าปี 2551 อัตราการเสียชีวิตในเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี มีประมาณ 3,000 ราย และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะเป็นอันดับ 2

เด็กอายุ 1-9 ปี จะเสียชีวิต 250-300 คน/ปี
ส่วนเด็กอายุ 10-14 ปี จะเสียชีวิต 400-500 คน/ปี

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า ในแต่ละปีมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ประมาณ 186,300 คน
ปี 2551 – 2555 ไทยมีเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี เสียชีวิตร้อยละ 5.03 – 7.25 ต่อ 100,000 ประชากร

เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่มีการชนกันอย่างแรง เด็กจะหลุดจากที่นั่งกระเด็นออกมานอกรถ หรือหลุดจากอ้อมกอดของผู้ปกครองไปกระแทกกับส่วนต่างๆ ในรถ เนื่องจากไม่ใช้คาร์ซีท เพราะผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยมักจะอุ้มเด็กหรือให้นั่งตัก

ดังนั้น.เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เด็ก คาร์ซีท จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

ทราบหรือไม่ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตัวเลขว่า การใช้คาร์ซีทจะช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กได้ถึงร้อยละ 70

ในปัจจุบันมีมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายบังคับใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก..

ประเทศไทย….ก็ยังไม่มี 

 


หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ
บทความโดย โอ พิพัฒพล
.
.
safetyhubs
ศูนย์กระจายความปลอดภัย
————————————————————————–
-อ้างอิง-

http://www.rsa.ie/en/RSA/Road-Safety/Child-Safety-in-Cars
https://www.childcarseats.org.uk/types-of-seat/
https://ldpthailand.org/th/2016/09/กฎหมายเพื่อความปลอดภัย
https://www.punnita.com/เบาะนั่งในรถยนต์คาร์ซีท
https://www.britaxthailand.com/17156068/มาตรฐาน-ece-r-44-คืออะไร
http://ailebebethailand.com/การเลือกคาร์ซีท-carseat-แบบหมอเด็ก-เลือกให้ลูกตัวเอง
https://www.pobpad.com/คาร์ซีท-เลือกซื้อและติด
http://www.babygiftretail.com/วิธีการเลือกคาร์ซีท
https://www.papen.co.th/single-post/2016/12/11/กฏหมายและสัญลักษณ์-ECE-R4404
https://www.youtube.com/watch?v=4IVy3yJxF7U
https://www.youtube.com/watch?v=7xDoG29V3n4
https://www.youtube.com/watch?v=qL3c3hs9who
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/085/36.PDF